วันอังคารที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2556

เทคนิคการบริหารเวลา แบบนักพัฒนา

บทความโดย โกสินธุ์ อัคครุ่งเรือง
นักจิตวิทยาให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์




     มีเพื่อน ๆ หลายคนสอบถามเข้ามาว่าทุกวันนี้ผมทุกวันนี้ผมบริหารชีวิตอย่างไร เพราะที่เหฺ็นทำเยอะสิ่งเหลือเกิน ทั้งงานประจำ, งานบรรยาย, ร้านอาหาร, และงานจิตอาสา ในระหว่างนั่งรอบริจาคเลือดครั้งที่ 21 ผมเลยมีเวลาว่างประมาณ 2 ชั่วโมง จึงมีเวลาเขียนแชร์แนวคิดการบริหารเวลา เผื่อมีใครสนใจจะนำไปเป็นแนวทางการบริหารชีวิตก็ยินดีครับ

     ก่อนอื่นต้องเล่าย้อนไปเมื่อสมัยเริ่มต้นทำงานสายพัฒนาบุคคลากร ผมได้จัดอบรมหลักสูตร "การบริหารเวลา" ให้แก่พนักงานในองค์กร ในขณะนั้นผมเชิญวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ 2 ท่าน 
มาให้ความรู้แก่หนักงาน ได้แก่ อ.ยงยุทธ พีรพงศ์พิพัฒน์ และอ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ และด้วยเหตุผลนี้ผมซึ่งเป้นคนจัดอบรมจึงมีโอกาสเรียนรู้เรื่อง "การบริการเวลา" ไปกับเขาด้วย ซึ่งหลักสูตรนี้ทำให้ผมรู้จักเครื่องมือการบริการเวลาก็คือตาราง 4 ช่องนี้


แนวคิดการบริการเวลาตามตาราง 4 ช่องนี้ คือ

1. งานสำคัญ+เร่งด่วน เปรียบเสมือนก้อนกรวด
เป็นงานที่ต้องทำทันที ถ้าไม่ทำหรือไม่เสร็จอาจก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ตามมา ต้องไม่ให้มีงานในช่องนี้มากจนเกินไป ส่วนใหญ่จะมาจากงานก้อนหินที่ทำไม่เสร็จตามกำหนด

2. งานสำคัญ+ไม่เร่งด่วน เปรียบเสมือนก้อนหิน (เป็นงานที่เราต้องให้ความสำคัญ)
เป็นงานที่ทำประจำ อยู่ในแผนงาน มีการวางแผน มีกรอบระยะเวลาที่ทำแน่นอน และไม่ควรปล่อยทิ้งไว้เพราะความไม่เร่งด่วน เพราะหากเวลากระชั้นขึ้นมางานในส่วนนี้จะกลายเป็นงานที่สำคัญและเร่งด่วนทันที และจะก่อให้เกิดผลกระทบต่องานชิ้นอื่น

3. งานไม่สำคัญ+เร่งด่วน เปรียบเสมือนเม็ดทราย
เป็นงานที่ให้คนอื่นทำแทนได้ แต่ถ้าฝากใครไม่ได้ควรให้เวลาจัดการให้น้อยที่สุด เพราะส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นจะเป็นงานนอกแผน เช่น การประชุมด่วน การรับโทรศัพท์ลูกค้า หรือการทำเอกสารบางอย่าง เป็นต้น

4. งานไม่สำคัญ+ไม่เร่งด่วน เปรียบเสมือนน้ำ
เป็นงานที่ควรจะทำในเวลาว่าง ซึ่งการทำงานชิ้นนี้ไม่ส่งผลกระทบกับชีวิตประจำวันมากกนัก จะทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ แต่เป็นการเติมเต็มให้ชีวิตม่ีความสุข เช่น เล่นเกม, Facebook, Line, ดูหนัง, ฟังเพลง เป็นต้น

     หากจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพที่ชัดเจน คงต้องเปรียบเสมือนการนำวัตถุ 4 ชนิด ได้แก่ ก้อนหิน ก้อนกรวด ทราย และน้ำ โดยโจทย์ จะให้เรานำวัตถุ 4 ชนิดดังกล่าวใส่ขวดโหลให้มากที่สุด เราควรจะใส่อะไรลงไปอันดับแรก ซึ่งหากเราเรียงลำดับความสำคัญของวัตถุถูก เราได้ก็จะนำวัตถุใส่ขวดโหลได้ในปริมาณมากที่สุด ซึ่งโจทย์นี้เป็นการทำให้เห็นถึงการจัดลำดับความสำคัญ 
     การเรียงลำดับที่ถูกต้องเราจะต้องใส่ ก้อนหิน ซึ่งเป็นงานหลักลงในขวดโหลก่อน หลังจากนั้นให้เติมก้อนกรวดซึ่งมีขนาดเล็กกว่าลงไป ตามด้วยเม็ดทรายที่มีความละเอียดกว่าลงไป สุดท้ายให้เติมเต็มด้วยเม็ดทรายที่เหมือนกิจกรรมที่มาเติมเต็มให้แก่ชีวิต เพียงเท่านี้เราก็จะทำให้ขวดโหลใส่วัตถุได้อย่างคุ้มค่า เต็มประสิทธิภาพ


     จากแนวคิดนี้ผมจึงนำมาปรับใช้โดยแบ่งงานที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันผมออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ก็คือ 
งานที่ต้องทำไม่ทำไม่ได้ กับงานที่ชอบหรืองานตามอุดมการณ์นั่นเอง ซึ่งวิธีการจัดลำดับความสำคัญของผม มีดังนี้

1. งานที่ต้องทำไม่ทำไม่ได้มี (เอาปฏิทินตั้งโต๊ะมาลงตารางได้เลย)
     1.1 งานประจำที่เป็นรายได้หลักหาเลี้ยงครอบครัว ซึ่งทำ 5 วันต่อสัปดาห์ (จันทร์-ศุกร์ 09.00-18.00 น.)
     1.2 วันครอบครัวต้องมีอย่างน้อย 1 วันต่อสัปดาห์ ของผมกำหนดไว้ คือ วันอาทิตย์ ซึ่งวันนี้ งดรับงานทุกชนิด ยกเว้นงานเร่งด่วนจริง ๆ เป็นบางครั้งได้ และการบริหารชีวิตครอบครัวก็มีความสำคัญโปรดอย่าละเลยในข้อนี้


2. 
งานตามความฝันหรืออุดมการณ์ เมื่อเราได้งานหลักเรียบร้อย ต่อมาเราก็มาดูว่าเรามีวันและเวลาเหลือช่วงไหนที่ผมจะทำงานตามฝันของผมได้บ้าง
     2.1 งานบรรยาย เป็นงานตามอุดมการณ์ที่อยากเห็นคนไทยมีอาชีพและรายได้ที่ดีขึ้น เป็นงานที่ให้ความรู้ผู้อื่นและสร้างรายได้ให้ตัวผมเองอีกด้วย ซึ่งปีหนึ่ง ๆ ผมรับงานบรรยายไม่เยอะ เพราะจะรับบรรยายได้ตามสิทธิ์พักร้อน หรือวันหยุดอื่น ๆ เช่น วันหยุดตามประเพณี วันเสาร์ อาทิตย์ เป็นต้น     
     2.2 งานร้านอาหาร เป็นงานที่ทำเพราะต้องการบริหารสังคมกับเพื่อน ๆ ซึ่งร้านเปิดบริการ 16.00-22.00 น. เลิกงานผมก็จะแวะเข้าร้าน ส่วนเพื่อน ๆ ใครเหงา หรือว่าง หรืออยากเจอผม เลิกงานก็จะแวะมาคุยด้วย เรียกว่าการทำร้านอาหารแม้ไม่ได้กำไร เพราะช่วงเวลาเปิด-ปิดน้อย แต่ก็ไม่ขาดทุนเพราะผมยังทัเวลาพักผ่อนได้ 6 ชั่วโมง และที่สำคัญยังได้เข้าสังคมกับเพื่อน ๆ อีกด้วย     
     2.3 งานจิตอาสาต่าง ๆ เช่น งานช่วยเหลือชุมชน งานกีฬา แม้กระทั่งการบริจาคเลือด ก็จะทำในวันเสาร์ หรือช่วงเวลาอื่นที่ไม่กระทบงานหลัก ซึ่งงานนี้สามารถยืดหยุ่นได้ เพราะทำก็ได้ไม่ทำก็ได้ และผมกำหนดไว้ว่าต้องบริจาคเลือดทุก 3 เดือน ซึ่งกำหนดแล้วเป็นสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนที่ครบกำหนด

แต่เทคนิคการบริหารชีวิตและบริหารเวลาตามแนวคิดผมมี 3 สิ่งที่สำคัญและขาดไม่ได้หากไม่อยากเห็นชีวิตครอบครัวและสุขภาพตัวเองพัง คือ 
     1. ครอบครัวที่เข้าใจ และพร้อมจะสนับสนุนอุดมการณ์ของเรา
     2. วินัยการใช้ชีวิตของตนเอง เมื่อถึงเวลาต้อง ทำ ทัน ที
     3. การดูแลสุขภาพ เพราะหากชีวิตเรายังดูแลไม่ได้ เราจะไปดูแลชีวิตใครได้

และผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าแนวคิดการบริหารชีวิตแบบนี้จะเป็นประโยชน์ต่อหลาย ๆ คน ส่วนใครที่อ่านถึงบรรทัดนี้ต้องขอชื่นชมเป็นอย่างสูง เพราะคุณคือคนไทยที่อ่านหนังสือเกิน 8 บรรทัด ขอบคุณจริง ๆ ครับที่อ่านจนจบ ^^ 

วันอาทิตย์ที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2556

อ่านพฤติกรรมมนุษย์ ตามทฤษฎี DISC

บทความโดย โกสินธุ์ อัคครุ่งเรือง
นักจิตวิทยาให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์
ดูคลิปการสอนคลิก >>> https://www.youtube.com/watch?v=GVUofQP_ziQ


โกสินธุ์ อัคครุ่งเรือง
นักจิตวิทยาให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์


เราเคยเจอเหตุการณ์เหล่านี้ไหม???

"ไม่เห็นจะเข้าใจในสิ่งที่เขาพูดเลย"

"รู้สึกเบื่อหน่าย รำคาญกับบางคนที่อธิบายอย่างไรก็ไม่เข้าใจสักที"

"ทำไมเขาต้องมาแสดงกิริยา ท่าทางแบบนี้กับเราด้วย"

"เราพูดหรือทำอะไรผิดหรือ เขาถึงไม่พอใจเราขนาดนั้น"

          นั่นเป็นเพราะ "มนุษย์ไม่มีคู่มือการใช้งาน" เราจึงไม่สามารถเข้าใจพฤติกรรมของคนอื่นได้ทั้งหมด ดังนั้น การจะทำอะไรให้ถูกใจใครสักคน จึงเป็นเรื่องยาก  
      ในการหาคำตอบของพฤติกรรมมนุษย์สามารถทำได้ 2 วิธี คือ
       1. เข้าใจโดยสัญชาตญาณ เป็นความรู้สึกที่เกิดจากการเคยเจอบุคคลที่มีลักษณะคล้ายคลึง หรือใกล้เคียงกันมาก่อน จึงสามารถคาดเดาได้ว่า เขาเป็นคนเช่นไร ซึ่งคนส่วนใหญ่จะใช้สัญชาตญาณส่วนบุคคลนี้ในการพูดคุย หรือสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้าง
          2. วิเคราะห์ตามหลักความจริง เป็นการวิเคราะห์ด้วยแบบทดสอบ แบบประเมิน หรือสถิติต่าง ๆ ที่ผ่านการทดลอง และวิจัยมาแล้วว่าสามารถใช้ประเมินบุคลิกภาพของคนส่วนใหญ่ได้ จากประสบการณ์ในการบรรยายและทำการทดสอบพฤติกรรมของผู้เข้าอบรมมากกว่าพันคน โดยใช้แบบประเมินที่แตกต่างกัน เช่น MBTI, Emergenetics หรือ Enneagram (นพลักษณ์)  แล้วพบว่า คนส่วนใหญ่มีความเข้าใจแบบทดสอบที่ชื่อว่า DISC มากกว่าแบบทดสอบอื่น อาจเป็นเพราะ DISC เป็นแบบทดสอบที่ไม่ซับซ้อน และแบ่งรูปแบบพฤติกรรมของมนุษย์ไม่มาก จึงง่ายต่อความเข้าใจ ดังนั้น วันนี้เราจะมาทำความเข้าใจพฤติกรรมมนุษย์ด้วยทฤษฎี DISC ว่าเป็นอย่างไร


     เรื่องของ “Extended DISC” เป็นการแบ่งรูปแบบพฤติกรรมของมนุษย์ของ วิลเลียม โมลตัน มาร์สตัน (William Moulton Marston) นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่พัฒนามาจากทฤษฎีการวิเคราะห์พฤติกรรมมนุษย์ตามแนวคิดของ คาร์ล กุสตาฟ จุง (Carl Gustav Jung) นักวิทยาศาสตร์ผู้บุกเบิกการศึกษาด้านพฤติกรรมมนุษย์
William Moulton Marston

Carl Gustav Jung
          โดย มาร์สตัน ได้เขียนหนังสือเรื่อง ลักษณะอารมณ์ของคนปกติ (The Emotions of Normal People) และจำแนกพฤติกรรมของมนุษย์ออกเป็น 4 ประเภท  ดังนี้

Style D (Dominance) บุคลิกแมน ๆ ชอบแสดงออก มีมั่นใจในตัวเอง กล้าตัดสินใจ ชอบการแข่งขัน กล้าเสี่ยง เอาจริงเอาจัง ใจกว้าง ไม่ค่อยยิ้ม เดินเร็ว แต่งกายเรียบง่าย ทำงานรวดเร็ว พูดจาเสียงดัง ไม่ประนีประนอม  ยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง เอาแต่ใจ ไม่ค่อยฟังผู้อื่น ใจร้อน ตรงไปตรงมา พูดจาขวานผ่าซาก น้ำเสียงห้วนสั้น กระชับ อาจดูไม่สุภาพในสายตาผู้อื่น กล้าโต้แย้งพร้อมชนถ้าไม่เห็นด้วย
       
Style I (Influence) บุคลิกลัลล้า ชอบแสดงออก ช่างพูด ชอบเข้าสังคม มนุษย์สัมพันธ์ดี ดูเป็นมิตร เปิดเผย จูงใจคนเก่ง ช่างคิด ชอบขายไอเดีย มองโลกในแง่ดี ร่าเริง ท่าทางกระตือรือร้น มีอารมณ์อ่อนไหว ชอบตามใจเพื่อน มักหลีกเลี่ยงรายละเอียด สมาธิสั้น เบื่อง่าย เวลาคุยกันมักพูดออกนอกประเด็นไปเรื่อย ๆ ไม่ค่อยรักษากฎ
       
Style S (Stediness) บุคลิกแสนดี มีลักษณะนิสัยใจเย็น เสมอต้นเสมอปลาย ทำอะไรเป็นระบบ ละเอียดรอบคอบ ถ่อมตัว ประนีประนอม เก็บความรู้สึกเก่ง พูดจานุ่มนวล ใส่ใจความรู้สึกผู้อื่น ไม่ชอบแสดงออก ชอบเป็นผู้ฟังมากกว่าผู้พูด แต่จะพูดเมื่อถูกถามและมักแสดงความเห็นด้วยกับผู้อื่นตลอดเวลา ขี้เกรงใจ คิดนาน และต้องการคำแนะนำจากผู้อื่น มีหลักการ และไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง  

Style C (Compliance) บุคลิกเรียบร้อย ชอบความสมบูรณ์แบบ มีระเบียบวินัยสูง ยึดติดกับรายละเอียดของการทำงาน ไม่ชอบแสดงออก พูดน้อยไม่ค่อยสบตา ไม่ค่อยยิ้ม มีเหตุผลและหลักการ มีชั้นเชิงในการพูด ไม่ชอบความเสี่ยง เน้นความชัดเจนถูกต้องให้ความสำคัญกับข้อเท็จจริงในเชิงลึก ละเอียดถี่ถ้วน เจ้าระเบียบปฏิบัติตามกฎเกณฑ์และไม่ชอบความท้าทายใหม่ซึ่งทำให้การทำงานแต่ละครั้งต้องคอยระมัดระวังอยู่ตลอดเวลา ไม่ชอบโต้แย้งความคิดผู้อื่น ล้มเลิกทันทีหากเป้าหมายไม่ชัดเจน
       

***************


อ่านมาถึงตรงนี้อยากรู้ไหมว่าบุคลิกของคุณเป็นแบบใด ???
มาค้นหาสไตล์ของคุณจากแบบทดสอบ โดยเลือกข้อที่ตรงกับความเป็นคุณมากที่สุด 
       
ข้อ 1. ในการสนทนา สายตาของคุณอยู่ที่ไหน
       ก. คู่สนทนาตลอดเวลา
       ข. คู่สนทนาเป็นส่วนใหญ่
       ค. พื้นห้องสลับคู่สนทนา
       ง. ดูความเคลื่อนไหวรอบห้อง มากกว่าคู่สนทนา
       
ข้อ 2. ลักษณะการเดินของคุณ
       ก. เดินเร็ว
       ข. กระตือรือร้น มีชีวิตชีวา
       ค. ช้า ๆ สบาย ๆ
       ง. มีจังหวะสม่ำเสมอ
       
ข้อ 3. ในการตัดสินใจ คุณตัดสินใจจากอะไร
       ก. สิ่งที่คุณเชื่อ และข้อสรุปของคุณ
       ข. การที่ทุกคนเห็นด้วยกับการตัดสินใจนั้น
       ค. ประเมินว่ามีผู้ที่ได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน
       ง. เหตุผล จากข้อมูลที่พิสูจน์ได้
       
ข้อ 4. เมื่อมีใครสักคนมาร้องไห้อยู่ตรงหน้าคุณ คุณจะ....
       ก. บอกให้เขาหยุดร้องไห้จะดีกว่า
       ข. พยายามพูดให้เขาอารมณ์ดีขึ้น
       ค. ให้คำปรึกษา และแสดงความเข้าใจ
       ง. รู้สึกลำบากใจ และอยากปลีกตัวออกไป



***********************


เฉลย
       
       ลองตรวจคำตอบของคุณว่า ตอบข้อใดมากที่สุด 
       
       ข้อ ก. = D

       ข้อ ข. = I
       
       ข้อ ค. = S
       
       ข้อ ง. = C 

     
     สรุปได้ว่า การแบ่งพฤติกรรม แบบ DISC ของ มาร์สตัน เป็นเพียงแบบวิเคราะห์พฤติกรรมที่ทำให้เราเข้าใจบุคลิกของมนุษย์ส่วนใหญ่ และใช้เป็นหลักการให้เรานำไปสื่อสาร หรือสร้างปฏิสัมพันธ์กับคนรอบข้างได้ง่ายขึ้น แต่พฤติกรรมที่หลากหลายของมนุษย์ล้วนมาจากภูมิหลังของบุคคล เช่น ประสบการณ์ในวัยเด็ก ประวัติการศึกษา เชื้อชาติ สังคม และการเลี้ยงดูจากครอบครัว  ด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้แบบประเมินทุกแบบมีข้อจำกัด หากเราต้องการทำความรู้จักใครสักคน หรือต้องการทำความรู้จักตัวเองให้มากขึ้น เราต้องทำความเข้าใจส่วนประกอบต่าง ๆ หรือแบบประเมินพฤติกรรมอื่นร่วมด้วย
#`พฤติกรรมมนุษย์ #DISC


ดูคลิปคลิก >>> https://www.youtube.com/watch?v=GVUofQP_ziQ


                                                                  โกสินธุ์ อัคครุ่งเรือง
                                             นักจิตวิทยาให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์

วันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2556

อ่านพฤติกรรมมนุษย์ ตอน วลีเด็ด..ที่เด็ก ๆ หลายคนเคยเจอ

"อยากเรียนอะไรก็เรียน...จบแล้วก็มาช่วยงานที่บ้าน"
   บทความโดย โกสินธุ์ อัคครุ่งเรือง 
   นักจิตวิทยาให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์


โกสินธุ์ อัคครุ่งเรือง
นักจิตวิทยาให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์


     "อยากเรียนอะไรก็เรียน...จบแล้วก็มาช่วยงานที่บ้าน" ประโยคสั้น ๆ ของเตี่ยและแม่ที่บอกกับผมในช่วงวัยเด็ก ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่ผมจะจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น แม้จะเป็นคำพูดที่เรียบง่าย แต่สะท้อนให้เห็นความหมายของคำว่า "ต้นทุนชีวิต" ได้เป็นอย่างดี แต่ก่อนที่จะเข้าสู่เนื้อหาต่อไป เรามาทำความรู้จักกับคำว่า ต้นทุนชีวิต กันก่อนว่าคืออะไร
     นพ.สุริยเดว ทรีปาตี (2553) ให้ความหมาย ต้นทุนชีวิต  (Development Assets) ไว้ว่า "เป็นต้นทุนขั้นพื้นฐานที่มีผลต่อการพัฒนาทางด้านจิตใจ สังคม สติปัญญาให้คนคนหนึ่งสามารถดำรงชีพอยู่ในสังคมได้อย่างเข้มแข็ง" ซึ่งต้นทุนชีวิตมีหลายรูปแบบ โดยผมจะยกกรณีศึกษาที่เรามักพบเจอกันอยู่ในชีวิตประจำวันของคนส่วนใหญ่ในประเทศไทย นั่นก็คือต้นทุนชีวิตที่มาจากพื้นฐานครอบครัว

1. ฐานะทางเศรษฐกิจ
     เป็นต้นทุนชีวิตขั้นพื้นฐานอย่างหนึ่งของพวกเรา หากครอบครัวใดมีฐานะทางเศรษฐกิจดี ก็จะมีหนทางการสร้างทางเดินอนาคตให้กับลูกหลานได้มากกว่าครอบครัวอื่น แล้วอะไรคือต้นทุนชีวิตทางเศรษฐกิจ ผมขอยกตัวอย่างจากครอบครัวของผม ดังนี้
     ผมเป็นลูกหลานชาวจีนที่เข้ามาตั้งรกรากในเมืองไทย ครั้งเหล่ากง เหล่าม่า หนีภัยสงครามและความอดยาก มีเพียงเสื่อผืนหมอนใบ ข้ามน้ำ ข้ามทะเล  แต่การเข้ามาเสี่ยงโชคในเมืองไทยสำหรับคนต่างคนแดนในยุคสมัยนั้นทำให้มีเส้นทางในสายอาชีพให้เลือกไม่มากนัก ตามคำพูดที่ว่า "ถ้าคนจีนไม่ค้าขายก็ต้องไปเป็นกุลีใช้แรงงาน" จากการมองการไกลของคนรุ่นบุกเบิกพับแนวคิดที่ไม่ต้องการเป็นลูกจ้างใคร เพราะการเป็นลูกจ้างในยุคสมัยนั้น คือ กุลี และการทำงานกว่าจะได้เงินแต่ละบาท แต่ละสลึงต้องใช้แรงกายเป็นอย่างมาก และอาชีพใช้แรงงานเป็นอาชีพที่ไม่มีความมั่นคง หากวันหนึ่งหมดเรี่ยวแรงแล้วจะหาเลี้ยงครอบครัวได้อย่างไร ลูกหลานจะอยู่อย่างไร ดังนั้น คนจีนส่วนใหญ่ที่เข้ามาตั้งรกรากในเมืองไทยจึงตัดสินใจเลือกประกอบอาชีพพาณิชย์ รวมถึงต้นตระกูลของผมด้วย 
     ในช่วงพ.ศ. 2489-2507 เป็นช่วงสิ้นสุดสงครามโลก  จึงเป็นยุคที่โลกให้ความสำคัญกับการเพิ่มจำนวนประชากร เพื่อนำมาใช้เป็นแรงงานในการพัฒนาประเทศ หรือที่เรารู้จักกันในยุค เบบี้ บูม (Baby Boomer) ด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้ประเทศไทยซึ่งในขณะนั้นอยู่ในสมัยรัฐบาลยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม  จัดตั้งองค์กรระดับชาติขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมประชาชนให้แต่งงานกันมากขึ้น โดยมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “องค์การส่งเสริมการสมรส" และนโยบายส่งเสริมการมีบุตรมากมาย เช่น คู่สมรสใหม่ได้ดูหนังฟรี 30 วัน คนท้องขึ้นรถเมล์ฟรี ลูกคนแรกได้รับการศึกษาฟรี การห้ามคุมกำเนิด หรือแม้กระทั่งเก็บภาษีชายโสดเพิ่มขึ้น  มีการโฆษณาผ่านทางวิทยุ หนังสือพิมพ์ เพลง ละคร และโปสเตอร์ ประกอบกับความเชื่อของคนในยุคสมัยนั้น ที่มีแนวคิดที่ว่า การมีลูกมาก ก็จะยิ่งร่ำรวยมาก เพราะลูก ๆ จะช่วยกันทำมาหากิน ทำให้บางครอบครัวผลิตลูกกันจนตั้งเป็นทีมฟุตบอลได้หนึ่งทีม ซึ่งไม่เว้นแม้กระทั่งครอบครัวของพ่อและแม่ผม
     การเพิ่มจำนวนประชากรเพื่อพัฒนาประเทศเป็นสิ่งดี แต่ก็มีผลกระทบด้านคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานของเยาวชนตามมา เช่น ระบบการศึกษาที่ไม่เอื้ออำนวยให้กับครอบครัวที่มีฐานะยากจน ซึ่งสมัยก่อนการศึกษาภาคบังคับมีถึงประถมศึกษา 4 เป็นการศึกษาระดับประถมต้น ที่รัฐบังคับ เพื่อให้ทุกคนได้รับการศึกษา อย่างน้อยที่สุดก็พออ่านออก เขียนได้ บวกลบเลขเป็น จะได้ใช้ในชีวิตประจำวันได้ ถ้าครอบครัวไหนมีฐานะดี บุตรหลานก็จะเรียนต่อจนถึงระดับมัธยม หากครอบครัวใดทางบ้านฐานะไม่ดีก็มักจะหยุดเรียนกันแค่นั้น และการเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยนั้นสมัยก่อนถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างไกลตัวมาก     มีแค่คนที่ครอบครัวมีเงินพอจะส่งเสียให้เรียนได้จึงจะเรียนไหว จึงทำให้หลาย ๆ ครอบครัวที่มีลูกเยอะต้องตกลงกันภายในครอบครัวว่า ใครที่เหมาะสมที่จะได้เรียนต่อ
     ด้วยต้นทุนชีวิตด้านเศรษฐกิจครอบครัวของบุคคลรุ่นพ่อรุ่นแม่มีน้อย จึงเป็นแรงผลักดันให้พวกเขาพยายามส่งเสียให้ลูกของตนเองได้เรียนสูงสุด เท่าที่พวกเขาจะทำได้ แต่ประเด็นที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่ง คือ แล้วอะไรคือสิ่งที่ทำให้บุคคลรุ่นพ่อและแม่ของเราประสบความสำเร็จ มากกว่าผู้ที่เรียนจบสูง ๆ เช่น คุณเตียง จิราธิวัฒน์ (นี่เตียง แซ่เจ็ง), หรือคุณทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ จากชีวิตที่อยู่ในฐานะล่าง ๆ ในสังคม ปัจจุบันกลายเป็นมหาเศรษฐีอันดับต้น ๆ ของประเทศ (จากการจัดอันดับของ Forbes Thailand) ขอฝากประเด็นนี้ทิ้งท้ายในหัวข้อนี้เพื่อให้พวกเราได้กลับไปช่วยกันคิด และวิเคราะห์ต่อ

2.การเลี้ยงดูจากครอบครัว
     หากนำชีวิตตัวเองไปเปรียบเทียบกับบุคคลในตำนานระดับประเทศดูจะเป็นเรื่องยาก และมองไม่เห็นลู่ทางที่จะทำได้ในยุคสมัยนี้ เรากลับมาสู่เรื่องใกล้ตัวที่เราสามารถจับต้องได้นั่นก็คือการค้นหาความฝันของตัวเองให้เจอก่อน แล้วเริ่มลงมือทำ
     แต่กว่าที่บางคนจะหาความฝันของตัวเองเจอก็จวนเจียนที่จะเกษียณอายุราชการ แล้วทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เรามาทำการวิเคราะห์กัน โดยผมจะยกตัวอย่างให้เห็นจากประสบการณ์ในชีวิตของผม เพื่อให้เข้าใจง่ายผมจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้
     1) แนวคิดพื้นฐานของครอบครัว 
     ข้อนี้เป็นผลพวงที่มาจากต้นทุนชีวิตด้านเศรษฐกิจครอบครัว ยกตัวอย่างจากครอบครัวของผม ซึ่งเป็นครอบครัวพาณิชย์จึงมีแนวความคิดว่า ไม่มีอาชีพใดจะดีเท่าอาชีพ "ค้าขาย" จึงไม่แปลกที่จะเกิดวลีที่ว่า "อยากเรียนอะไรก็เรียน จบแล้วก็มาทำงานที่บ้าน" เพราะการยึดอาชีพค้าขาย เมื่อเราขายของได้ เราก็จะมีเงินซื้อข้าวกินทุกวัน นั่นเป็นเพราะคนรุ่นพ่อและรุ่นแม่ของผมเป็นบุคคลที่เคยพบกับยากความลำบาก อดมื้อกินมื้อมาก่อน สิ่งที่เขากลัวมากที่สุดคือ วันที่ลูก ๆ ไม่มีข้าวกิน ดังนั้น พวกเขาจึงอดทนทำงานทุกวันแบบไม่มีวันหยุด แต่สิ่งที่ตามมาก็ คือ พวกเขาไม่มีเวลาให้กับลูก ๆ อย่างเพียงพอ ด้วยเหตุนี้ จงลืมเรื่องการให้คำปรึกษาในการเรียนหรือการใช้ชีวิตไปได้เลย เพราะสิ่งที่พวกเขาทำให้กับผมก็คือ การหาเงินแล้วส่งให้ผมเรียน และให้ไปเรียนรู้การใช้ชีวิตจากสังคมในโรงเรียน ที่มีครูเป็นผู้สอน จึงไม่แปลกที่ในช่วงวัยรุ่นของเด็กหลาย ๆ คนที่ต้องการใครสักคนมาให้คำปรึกษา และคิดน้อยใจว่าพ่อกับแม่ไม่มีเวลาให้ 
     มาถึงตรงนี้ผมต้องการจะบอกกับคนที่เคยมีความคิดเช่นเดียวกับผม ที่ว่าพ่อกับแม่ไม่สนใจลูก และให้ความสำคัญกับการทำงานมากกว่า ผมไม่ได้ขอให้ปรับเปลี่ยนความคิด แต่ขอให้ลองมองดูอีกมุมหนึ่งของพ่อแม่ว่า เพราะอะไรเขาจึงต้องทำงานหนัก เมื่อก่อนผมไม่เคยเข้าใจ จนระทั่งวันหนึ่งได้ออกมาใช้ชีวิต และผจญโลกกว้างคนเดียว ทำงานหาเงินใช้เองยังลำบากเลย แล้วต้องทำงานหาเลี้ยงคนในครอบครัวตั้งหลายชีวิตจะลำบากขนาดไหน หากวันนั้นพวกเขาไม่ทำงานอย่างหนัก แล้วพวกเราจะมีลมหายใจได้ถึงทุกวันนี้หรือไม่ 
     จากที่เล่ามานั้นผมตั้งใจจะบอกว่าต้นทุนชีวิตด้านเศรษฐกิจแม้จะมีผลต่อความสำเร็จในชีวิต แต่ก็เพียงส่วนหนึ่งที่ยังไม่ใช่ต้นทุนที่ทำให้คนประสบความสำเร็จได้ทั้งหมด
     2)  ต้องการเลี้ยงดูเด็กแบบสมัยใหม่ แต่ยังขาดความเข้าใจ
     ต่อมาเรามาดูต้นทุนชีวิตอีกส่วนหนึ่ง นั่นก็คือ การเลี้ยงดูของครอบครัว ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวล้วนเชื่อมโยงกันหมด เช่น การเลี้ยงดูของครอบครัวส่วนหนึ่งมาจากพื้นฐานการศึกษาของผู้ปกครอง และความคาดหวังที่ต้องการเลี้ยงดูลูกแบบสมัยใหม่ ในแบบที่พวกเขาไม่เคยได้รับ เช่น หากพ่อกับแม่เราเรียนจบ ป.4 เขาจะให้แนวทางการศึกษา หรือให้อนาคตด้านการศึกษาเราได้อย่างไร สิ่งที่เขาทำได้คือ อยากเรียนอะไรเรียนเลย เรียนให้สูงที่สุดเท่าที่เขาจะส่งได้ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการเปิดเสรีทางการศึกษาให้บุตรหลาน แต่ยังไม่สมบูรณ์ เพราะขาดการวางแนวทางในการดำเนินชีวิต
     ตามทฤษฎีพัฒนาการทางจิตสังคม 8 ขั้นของแอริคสัน (The Eight Stages of Psychosocial Development in Erikson) ที่ระบุว่า พัฒนาการในช่วงอายุ 13-20 ปี หรือขั้นที่ 5 ความเป็นอัตลักษณ์กับความสับสนในบทบาท (Identity vs Role Confusion) เด็กจะมีความสับสนในบทบาทของตนเอง โดยจะแสวงหาอัตลักษณ์ส่วนบุคคล  เช่น การคิดถามตนเองว่า “ฉันคือใคร” หรือ “ฉันจะทำอาชีพอะไรดี” เนื่องจากระยะนี้เด็กจะมีความรู้สึกสับสน ขาดความมั่นใจ ปัญหาทั่วไปที่จะพบในเด็กวัยนี้คือ ฉันไม่รู้ว่าฉันควรจะทำอะไร ฉันไม่รู้ว่าฉันจะดำเนินชีวิตไปในทิศทางใด อิทธิพลจากกลุ่มเพื่อนวัยเดียวกัน และต้นแบบจึงมีผลกับการดำเนินชีวิต
     ตัวอย่างจาก วันที่ผมต้องเลือกศึกษาต่อ เป็นช่วงเวลาก่อนที่ผมจะเรียนจบมัธยมศึกษาตอนต้น เมื่อคำตอบที่ผมได้รับจากครอบครัวคือ "เรียนอะไรก็ได้ อยากเรียนอะไรก็เรียน" ผมจึงมองหาความฝันของผมจากเพื่อนที่ผมสนิท แล้วผมก็ตัดสินใจเลือกที่จะเรียน ศิลปกรรม ซึ่งเป็นสายอาชีพ แต่คำตอบที่ได้รับ คือ อย่าเรียนเลย อันตราย วัยรุ่นที่เรียนสายนี้ทะเลาะวิวาทกันบ่อย เป็นคำตอบที่ออกมาจากความรักและความห่วงใยของผู้เป็นพ่อและแม่พ่อและแม่  สุดท้ายเรียนอะไรก็ได้ยกเว้น "สายอาชีพ" แต่ความข้องใจที่เกิดกับผมคือว่า "ไหนบอกว่าอยากเรียนอะไรก็เรียน"
      ซึ่งอธิบายตามแนวคิดของ แบนดูราได้ว่า การเรียนรู้ของคนส่วนใหญ่เกิดจากการเรียนรู้โดยการสังเกต (Observational) ตัวแบบ ซึ่งการเรียนรู้ผ่านตัวแบบนั้น อาจเป็นตัวแบบเพียงคนเดียวที่สามารถถ่ายทอดทั้งความคิดและการแสดงออกได้พร้อม ๆ กัน การเรียนรู้โดยการสังเกตจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุดหากพบตัวแบบที่เหมาะสม โดยตัวแบบนั้นแบ่งสามารถออกได้ 2 ประเภท คือ 1)ตัวแบบที่เป็นบุคคลจริง ๆ (Live Model) คือตัวแบบที่บุคคลได้มีโอกาสสังกตและปฏิสัมพันธ์ได้โดยตรง หรือตัวแบบควรจะเป็นผู้มีชื่อเสียงและเป็นที่เคารพในสายตาของผู้สังเกต  2)ตัวแบบที่เป็นสัญลักษณ์ (Symbolic Model) เป็นตัวแบบที่ผ่านสื่อต่าง ๆ เช่น วิทยุ โททัศน์ การ์ตูน หนังสือนวนิยาย เป็นต้น (สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต. 2556: 47-60. อ้างอิงจาก Bandura. 1978: 33, 344-358; 1989: 1-60)
      เนื่องจากเด็กวัยรุ่นยังไม่มีทักษะที่ดีในการแก้ปัญหา จึงมีพฤติกรรมการเลียนแบบบุคคล ดังนั้น สถาบันครอบครัวจึงมีส่วนสำคัญให้เด็กก้าวผ่านช่วงวัยที่แสนจะสับสนนี้ไปอย่างมั่นคง เช่น การช่วยตัดสินใจวางแผนเรื่องเกี่ยวกับอนาคต ทั้งเรื่องการเลือกอาชีพ การเลือกคู่ครอง เป็นต้น อย่างไรก็ตามวัยรุ่นแต่ละคนย่อมต้องการเวลาในการเรียนรู้ และปรับตัวเพื่อการพัฒนาไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่และได้รับการยอมรับจากบุคคลรอบข้างในสังคม 

3. ตัวของเราเอง
     นอกจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่แล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดของต้นทุนชีวิตก็คือ ความคิดของเรานั่นเอง เรามีการแสวงหาความรู้ด้วยตัวเองมากแค่ไหน หรือวัน ๆ ทำตัวประหนึ่งลูกนก ที่รอคอยให้แม่นกป้อนอาหารเข้าปาก ผมขอยกตัวอย่างเรื่องราวการใช้ชีวิตวัยรุ่น ที่ไม่เคยสนใจอนาคต ไม่กล้าคิด ไม่กล้าตัดสินใจ ดังนี้
     หลังจากนั้นผมตัดสินใจเลือกเรียนสายสามัญ ในสายวิทย์-คณิต เหตุที่ผมเลือกเรียนสายนี้ และโรงเรียนนี้ เป็นเพราะ พี่สาวของผมเรียนที่โรงเรียนนี้ และสายนี้ แต่ผมก็ไม่รู้ว่าเมื่อเรียนจบแล้วจะต้องเรียนที่ไหนต่อ การใช้ชีวิตวัยรุ่นช่วงนี้หมดไปกับการเล่นกีฬา และเกม เมื่อมีคนถามถึงเป้าหมายของการเรียนมหาวิทยาลัยของผม ผมสามารถยืดยกตอบได้ทันที คือ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ด้วยเหตุผลง่าย ๆ ก็เพราะพี่สาวของผมเรียนต่อที่นั่นอีกเช่นกัน แต่เหตุผลการเลือกเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ของผมนั้นมีอีก เนื่องจากผมคิดว่าผมโตแล้ว และผมไม่ต้องการขอเงินที่บ้านใช้ ผมจึงเลือกสถาบันที่เรียนไปด้วยและทำงานไปด้วยได้ และรัฐศาสตร์ เป็นสาขาที่ผมเลือกเรียน ซึ่งเป็นสาขายอดฮิตที่หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่ต้องเข้าเรียน แค่ตั้งใจอ่านหนังสืออย่างไรก็จบ สรุปก็คือ "เรียนอะไรก็ได้ที่จบไว ๆ นั่นเอง" เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ผมตัดสินใจเลือกเรียนสาขานี้ และตอนนั้นผมก็ไม่รู้ว่าเรียนรัฐศาสตร์จบไปแล้วจะทำงานอะไร นั่นเป็นเพราะผมถูกปลูกฝังมาตลอดว่า "รีบเรียนให้จบ แล้วกลับไปช่วยงานที่บ้าน" ใบปริญญาตอนนั้นมันไม่สำคัญเท่ากับการได้ถ่ายรูปรับปริญญากับครอบครัว ตอนนั้นผมคิดได้แค่นั้นจริง ๆ สุดท้ายเด็กคนหนึ่งก็เข้าสู่ตลาดแรงงานโดยที่ไม่รู้ว่าตัวเองชอบ หรือถนัดอาชีพอะไร
      
   สรุปสั้น ๆ จากเรื่องเล่าข้างต้น
   1. ต้นทุนชีวิตที่เกิดจากตัวเราเองมีส่วนทำให้เราประสบความสำเร็จในชีวิตมากที่สุด
   2. ในช่วงอายุ 13-20 ปี เป็นช่วงวัยที่ต้องการต้นแบบชีวิต หากได้พบต้นแบบชีวิตที่ดี ชีวิตก็จะดี
   3. ทัศนคติที่ดี และการมองชีวิตหลาย ๆ มุม มีส่วนทำให้ชีวิตประสบความสำเร็จ
   4. ทุกคนต้องมีเป้าหมายในชีวิต เป้าหมายชัดเจน เส้นทางชีวิตก็จะชัดเจนไปด้วย อย่าไปโทษฟ้า หรือชะตาชีวิต เพราะหลายคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต หลายคนมีต้นทุนชีวิตน้อยกว่าเรา

วันจันทร์ที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

อ่านพฤติกรรมมนุษย์ ตอน เราเห็นอะไรในแก้วกาแฟถ้วยนี้...

บทความโดย โกสินธุ์ อัคครุ่งเรือง
นักจิตวิทยาให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์






          ภาพของกาแฟถ้วยนี้คงทำให้แต่ละคนเกิดความรู้สึกที่ไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะไม่รู้สึกอะไรก็แค่กาแฟเพียงแก้วเดียว แต่บางคนกลับนึกถึงเรื่องราวบางอย่างจากความทรางจำ นั่นเป็นเพราะความแตกต่างทางด้านมุมมองของแต่ละบุคคลที่เกิดจากประสบการณ์ส่วนตัวนั่นเอง สำหรับผมกาแฟแก้วนี้ทำให้ผมนึกถึงเรื่องเล่าของ "แครอท ไข่ไก่ และเมล็ดกาแฟ" ที่แฝงไปด้วยข้อคิดอันลึกซึ้ง หากใครที่กำลังเผชิญกับความทุกข์ หรือต้องการคำแนะนำในการแก้ไขปัญหา ลองอ่านบทความนี้ดูครับ....

          กั้งหญิงสาววัยใสและกำลังจะเป็นแม่คน แต่ตอนนี้เธอกำลังประสบปัญหาครอบครัวนับเป็นปัญหาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของเธอ จนเธอไม่รู้ว่าจะจัดการกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นนี้ได้อย่างไร ในขณะเธอรู้สึกเหนื่อย ท้อแท้ สิ้นหวัง คนแรกที่เธอนึกถึงคือ แม่ผู้ให้กำเนิดเธอ เธอจึงได้เดินทางกลับบ้านไปหาแม่ของเธอ เพื่อขอคำแนะนำเกี่ยวกับการแก้ปัญหาครั้งนี้

          เมื่อกั้งพบแม่ เธอได้บอกเล่าปัญหาที่เกิดขึ้น แม่ของเธอก็รับฟังโดยไม่ได้พูดอะไร แล้วเมื่อฟังปัญหาจบแม่ของเธอก็พาเธอไปที่ห้องครัว แล้วนำหม้อสามใบใส่น้ำและตั้งไฟ จนกระทั่งน้ำเดือด แม่ของเธอได้ใส่แครอทลงไปในหม้อใบแรก ใส่ไข่ไก่ลงไปในหม้อใบที่สอง และใส่เมล็ดกาแฟลงไปในหม้อสุดท้าย หลังจากนั้นแม่ของเธอก็นั่งลงแล้วมองดูหม้อต้ม โดยไม่พูดอะไรสักคำ 


          เวลาผ่านไปยี่สิบนาทีแม่ของกั้งก็ลุกขึ้นปิดเตา แล้วนำแครอทออกมาจากหม้อและวางไว้ในชามที่หนึ่ง ตักไข่ไก่ออกมาจากหม้อและวางไว้ในชามที่สอง และตักกาแฟออกมาใส่ในชามที่สาม หลังจากนั้นก็หันกลับมาที่ลูกสาว และถามกั้งว่า  "บอกกับแม่สิว่า ลูกเห็นอะไร"


          กั้งตอบแม่กลับมาว่า "แครอท ไข่ และ กาแฟ"


          หลังจากได้ฟังคำตอบแม่ของเธอจึงพาเธอเข้าไปใกล้ ๆ และถามถึงความรู้สึกของเธอที่มีต่อสิ่งของทั้งสามอย่างอีกครั้ง และพูดขึ้นว่า



          "กั้งสังเกตเห็นแครอทนั้นไหมว่ามันมีความอ่อนนุ่ม แล้วไข่ไก่ใบนี้หลังจากเอาออกเปลือกไข่ออกกั้งสังเกตเห็นไหมว่าไข่ไก่นั้นสุก" 



          แล้วแม่ของเธอก็นั่งจิบกาแฟที่มีความหอมและรสชาติที่กลมกล่อม และถามกั้งอีกครั้งว่า "แล้วนี่หละ"

          กั้งได้แต่ยิ้มแล้วถามกลับอย่างสงสัยว่า "ของสามอย่างนี้มีหมายความว่าอย่างไร" 

          แม่ของเธออธิบายว่า น้ำที่เดือดนั้นเปรียบเสมือนปัญหา และของทั้งสามสิ่งนี้ได้ผ่านการเผชิญหน้ากับปัญหาเหมือนกับเรา ลองสังเกตดูสิว่าของแต่ละอย่างหลังจากผ่านน้ำที่เดือดมันก็มีปฏิกิริยาที่แตกต่างกัน


           แครอทที่แข็งแกร่ง หนักแน่น หลังจากผ่านการต้มในน้ำที่เดือด ความแข็งแกร่งของแครอทก็ลดลงและกลายเป็นอ่อนแอ 


          ในขณะที่ภายในของไข่ไก่เป็นของเหลว และมีความเปราะบางมาก  จึงต้องได้รับการคุ้มครองจากเปลือกนอกของมัน แต่หลังจากผ่านการต้มในน้ำที่เดือด ภายในที่เหลวของไข่ไก่นั้นก็ กลายเป็นของแข็ง


          ส่วนเมล็ดกาแฟที่เป็นของแข็งนั้น หลังจากผ่านการต้มในน้ำที่เดือด พวกมันกลับเปลี่ยนน้ำให้กลายเป็นกาแฟที่มีทั้งสี กลิ่นหอม และรสชาติที่กลมกล่อมของกาแฟ 


          หาก  "น้ำที่เดือด" เปรียบเสมือนความทุกข์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต "เราควรจะตอบสนองมันอย่าง แครอท ไข่ไก่ หรือเมล็ดกาแฟ" 


          จากเรื่องเล่านี้ สรุปสั้น ๆ ได้ว่า ไม่ว่าจะเจอปัญหาอะไรเข้ามาในชีวิต จงทำตัวให้เหมือนเมล็ดกาแฟ ที่ไม่ว่าจะเจออุปสรรคแบบไหน ก็จะสามารถอยู่กับมันได้ในแบบฉบับของเรา

โกสินธุ์ อัคครุ่งเรือง
นักจิตวิทยาให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์

วันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน พ.ศ. 2556

สาเหตุแห่งความเครียด ตามแนวคิดทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Sigmund Freud)

บทความโดย โกสินธุ์ อัคครุ่งเรือง
นักจิตวิทยาให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์


โกสินธุ์ อัคครุ่งเรือง
นักจิตวิทยาให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์

เมื่อมีการกล่าวถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จำเป็นต้องมีกรอบแนวความคิดเพื่อกำหนดทิศทางของเรื่องที่กำลังจะกล่าวถึง เป็นการป้องกันไม่ให้ออกนอกกรอบ หรือทิศทางที่ต้องการจนเกินไป กรอบแนวความคิดจึงเป็นความรู้ชุดหนึ่งที่ประกอบไปด้วยแนวคิดของนักวิชาการหลาย ท่าน เป็นการรวบรวมหลักการทั่ว ๆ ไป (General principle) และเป็นหลักการที่สามารถนำมาใช้อ้างอิงหรืออธิบายปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นได้ (Explanatory principle) ซึ่งองค์ความรู้ที่รวบรวมมานั้นจะกรอบแนวความคิดพื้นฐานสำหรับผู้ให้คำปรึกษานำไปใช้ในการวิเคราะห์และอธิบายพฤติกรรมหรือแนวความคิดที่เกิดขึ้นของผู้รับคำปรึกษา

แนวคิดที่สำคัญ
จิตสำนึกและจิตใต้สำนึกมีส่วนเกี่ยวข้องกับบุคลิกภาพและแสดงออกของมนุษย์ Freud เชื่อว่าพฤติกรรมทุกพฤติกรรมมีความหมาย และไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่จะมีจิตใจส่วนหนึ่งดำเนินการและสั่งการ ทำให้เกิดรูปแบบพฤติกรรมที่มีความหมายโดยเจ้าตัวไม่ตระหนัก ความหมายที่ซ่อนแฝงอยู่เบื้องหลังพฤติกรรมบางพฤติกรรมมีสาเหตุมาจากประสบการณ์ชีวิตในวัยต้น  เช่น การพูดอย่างระมัดระวัง หรือการพลั้งเผลออย่างไม่รู้ตัว

          ฟรอยด์ ได้อธิบายว่าจิตใจของคนแม้จะไม่มีตัวตนให้เห็นเด่นชัด แต่ก็สามารถอธิบายและทำความเข้าใจได้ โดยกระบวนการการทำงานของจิตใจ โดยเปรียบเทียบโครงสร้างทางจิตของมนุษย์ว่ามีสภาพคล้ายภูเขาน้ำแข็งที่ลอยอยู่ในมหาสมุทร มีส่วนน้อยที่ลอยอยู่เหนือผิวน้ำเปรียบได้กับระดับจิตสำนึกควบคุม และส่วนที่อยู่ใต้ผิวน้ำซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าเปรียบได้กับภาวะจิตใต้สำนึก และจิตในระดับใต้สำนึกนั้นประกอบด้วยกลไกทางจิตหลายประเภทช่น แรงจูงใจ อารมณ์ที่ถูกเก็บกด ความรู้สึกนึกคิด ความฝัน ความทรงจำ ฯลฯ ทำให้คนมีพฤติกรรมที่แตกต่างกัน โดยพฤติกรรมบางพฤติกรรมสามารที่จะอธิบายให้เข้าใจได้ แต่อีกหลายพฤติกรรมนั้นสร้างความสับสนที่ไม่สามารถจะเข้าใจได้ เพื่อทำความเข้าใจถึงสาเหตุพฤติกรรมมนุษย์ ฟรอยด์ได้อธิบายถึงโครงสร้างบุคลิกภาพสรุปได้ดังนี้

โครงสร้างบุคลิกภาพ
โครงสร้างบุคลิกภาพตามแนวคิดของฟรอยด์ ประกอบด้วยพลัง 3 ประการ ได้แก่ Id Ego และ Super Ego  พลังทั้ง 3 มีลักษณะเฉพาะตัว แต่ก็มีอิทธิพลต่อกันและทำงานสัมพันธ์กันตลอดเวลา บุคลิกภาพของผู้ใดมีลักษณะใดขึ้นอยู่กับพลัง Id Ego และ Super Ego  ทำงานร่วมกันในลักษณะอย่างไร

1. Id หรือสัญชาติญาณ พลังงานที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิด เป็นส่วนที่ยังไม่ได้รับการขัดเกลา ดำเนินการโดยสัญชาตญาณธรรมชาติ โดยพื้นฐานบุคคลมีความปรารถนาให้ชีวิตมีความสุขสบาย Id จึงเป็นพลังที่ผลักดันให้บุคคลแสวงหาความสุขความพอใจ  โดยการตอบสนองความต้องการทางร่างกายอย่างปราศจากเหตุผลหรือความถูกต้องดีงาม พลัง Id จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พลังแสวงหาความสุข (Pleasure Seeking Principle)

2. Ego   เป็นพลังแห่งการรู้และเข้าใจ การรับรู้ข้อเท็จจริง การใช้เหตุผลกลั่นกรองก่อนที่จะดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมาย Ego จึงทำหน้าที่คล้ายสะพานเชื่อมที่แสวงหาวิธีการตอบสนองความต้องการ (Id) โดยไม่ขัดต่อสำนึกผิดชอบชั่วดี (Super Ego ) จนเกินไป  เช่น เมื่อหิว พลัง  Ego  ก็จะใช้เหตุผลตรึกตรองว่าจะบำบัดความหิวได้โดยวิธีใด ตามสถานภาพแวดล้อม เช่น ไปสำรวจตู้เย็นก่อน ทำอาหารเอง ไปรับประทานอาหารนอกบ้าน ฯลฯ  จึงมีชื่อเรียกว่า Ego  อีกอย่างว่าพลัง รู้ความจริง”  ( Resllity Principle) 

3. Super Ego เป็นส่วนของบุคลิกภาพที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของมาตรฐานหรือคุณค่าทางศีลธรรมจรรยา คอยควบคุม Ego ให้หาวิธีที่เหมาะสมที่สุดในการสนองความต้องการ Id โดยเหนี่ยวรั้งให้ทำอะไรอยู่ในกรอบประเพณี ถูกเหตุถูกผล ให้คำนึงถึงความผิชอบชั่วดี มีคุณธรรม และสังคมเป็นใหญ่ โดยว่วนนี้จะควบคุมทั้งด้านความคิด ความรู้สึก และการกระทำ ประกอบด้วยระบบ 2 ระบบ คือ
3.1 The ego ideal คือการลอกเลียนแบบบุคคลในอุดมคติ เมื่อบุคคลมีความเชื่อว่าคนดีมีลักษณะอย่างไร หากปฏิบัติตามความเชื่อนั้นได้บุคคลก็จะรู้สึกภูมิใจ
3.2 The conscience คือการควบคุมให้บุคคลปฏิบัติตนให้อยู่ในมาตรฐานความเป็นคนดีที่ตนกำหนดไว้ หากบุคคลละเมินมาตรฐานความเป็นคนดีของตนเอง ก็จะเกิดความรู้สึกผิดหรือละอาย

จากทฤษฎีดังกล่าวข้างต้นสามารถสรุปได้ว่า บุคลิกภาพของแต่ละบุคคลมากจากความสัมพันธ์ระหว่าง Id  Ego  และSuper Ego โดย Id  เปรียบเสมือนสัญชาติญาณหรือตัณหาที่แสวงหาแต่ความพึงพอใจเพื่อมาตอบสนองต่อความต้องการของตนเอง ส่วน Super Ego เปรียบเสมือนมโนธรรมทำหน้าที่คอยเตือนหรือควบคุมไม่ให้ Ego แสดงอาการตามความเรียกร้องของสัญชาติญาณ บุคคลจะมีการแสดงออกทางพฤติกรรมตอบสนองในลักษณะใดนั้นขึ้นอยู่กับว่าพลังใดระหว่าง Id  หรือ Super Ego จะมีอำนาจต่อการตัดสินใจของ Ego มากกว่ากัน จากการทำงานที่ขัดแย้งกันของพลังทั้งสามส่วน ทำให้มนุษย์จำเป็นต้องมีการปรับตัวตามสถานการณ์ที่เข้ามาอยู่ตลอดเวลา

ความวิตกกังกล (Anxiety)
ฟรอยด์ เชื่อว่า (อ้างใน กิติกร มีทรัพย์.  2554) ความหวาดกังวลเป็นเรื่องที่มนุษย์หลีกเลี่ยงไม่พ้น เพราะความปรารถนาของมนุษย์ไม่ได้รับการสนองสมใจเสมอไป หรือ Ego ไม่สามารถควบคุม Id  และ Super ego ได้อย่างสมดุลเหมาะเจาะตลอดมา ฟรอยด์แบ่งความหวาดกังวลออกเป็น 3  ประเภท ได้แก่

(1)  ความวิตกกังวลต่อสิ่งที่เป็นจริง (Reality Anxiety)   ได้แก่ ความหวาดกลัวอันตรายจากสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่อยู่รอบตัวเรา เป็นต้นกำเนิดของ  Neurotic Anxiety และ Moral Anxiety เป็นความกังวลที่เกิดข้ึนกับมนุษย์เราเป็นส่วนใหญ่ เช่น กลัวงูมีพิษ คนถือปืน เป็นต้น

(2)   ความวิตกกังวลแบบโรคประสาท (Neurotic Anxiety) ความวิตกกังวลประเภทนี้ถูกกระตุ้นโดยภาพของความตื่นกลัวจากสัญชาตญาณ (Id)   ได้แก่ ความหวาดกลัวตัวเองว่า ตนจะไม่สามารถคุมสัญชาตญาณได้ จะทำสิ่งที่น่าอับอายขายหน้า จะถูกประจาน ประณาม และถูกลงโทษ

(3)    ความวิตกกังวลเชิงศีสธรรม (Moral Anxiety)  เนื่องมาจากคุณธรรมที่มาจากภายใน (Super Ego) ได้แก่  ความหวาดกลัวที่เกิดจากความสำนึกผิดชอบชั่วดี

ความเครียด (Stress)
ความเครียดเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ทุกคนไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ตลอดชีวิตของเรานั้นจะต้องประสบกับการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกร่างกายตลอดเวลา การเปลี่ยนแปลงทำให้เราต้องมีการปรับตัว การปรับตัวทำให้เราเกิดความเครียดขึ้น และถ้าเราปรับตัวล้มเหลวก็จะทำให้เกิดภาวะอารมณ์วิกฤตขึ้นได้
ความเครียดเพียงเล็กน้อยเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตประจำวัน เพราะมีส่วนช่วยกระตุ้นร่างกายและจิตใจให้มีปฏิกิริยาสนองตอบ และผลของการกระตุ้นนี้เองทำให้มนุษย์มีการปรับตัวทั้งด้านร่างกายและจิตใจ การปรับตัวทางด้านร่างกายทำให้มีแรงต้านทานโรค ส่วนทางจิตใจทำให้มีการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น มีความสามารถและทักษะการแก้ปัญหาชีวิตได้ดีขึ้น ความเครียดที่มีอยู่อย่างต่อเนื่องและมีอยู่ในระยะเวลานานๆ เท่านั้นที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคทางร่างกายและทางจิต
ความเครียดคือการตอบสนองของบุคคลที่ระบุอย่างชัดแจ้งไม่ได้ต่อสภาวการณ์บางอย่างที่คุกคามต่อความมั่นคงปลอดภัยของชีวิต ซึ่งการสนองตอบนี้มีลักษณะเฉพาะในแต่ละคนไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน จะปรากฎให้เห็นในรูปอาการแสดงออกบางอย่าง และเป็นต้นเหตุให้มีการเปลี่ยนแปลงหลายๆ อย่าง ภายในร่างกายของบุคคล ทำให้บุคคลต้องมีการปรับตัวทั้งด้านร่างกายและจิตใจ สภาวการณ์ที่ก่อให้เกิดความเครียดในคนหนึ่งไม่จำเป็นจะต้องเหมือนกับอีกคนหนึ่ง สภาวการณ์อย่างเดียวกัน อาจทำให้คนหนึ่งเครียดคนหนึ่งไม่เครียด ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และการรับรู้ของบุคคล และขึ้นอยู่กับปัจจัยอีกหลายๆ อย่าง เป็นต้นว่า วันเวลา การรับรู้ ความเข้มแข็งของบุคคล ระบบประคับประคองภายในบุคคล และที่ได้รับจากบุคคลภายนอก สมาชิกในครอบครัว เพื่อน องค์กรต่างๆ ในชุมชน เป็นต้น (สุวนีย์ กิ่งแก้ว . 2554 : 84)

สาเหตุของความเครียด
ความเครียดเกิดขึ้นได้จากหลายๆ สาเหตุ จำแนกได้เป็นสองสาเหตุคือ

1. สาเหตุจากภายนอกตัวบุคคล มีหลายสาเหตุที่เกิดขึ้นในกระบวนการดำเนินชีวิต
1.1 สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ ได้แก่สิ่งของรอบตัวเราที่สัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้าอยู่เป็นประจำ เช่น อากาศร้อนไป หนาวไป ทำให้ร่างกายไม่สุขสบาย หากต้องอยู่ในภาวะเหล่านี้ เราจะรู้สึกไม่สบาย ปวดศรีษะ และอารมณ์เสียได้ง่าย นั่นเป็นเพราะว่าเรากำลังอยู่ในอารมณ์เครียด หรือการขาดแคลนปัจจัยสำหรับการดำรงชีวิต เช่นอาหาร น้ำ เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค  ก็เป็นสาเหตุของความเครียดได้
1.2 สังคมและสัมพันธภาพกับคนอื่น การมีความสัมพันธ์กับคนในสังคมอาจทำให้เกิดความเครียดได้ เช่นการไม่ปรองดองกันของบุคคลในครอบครัว ทำให้เกิดความเครียดทางใจ สภาพความเป็นอยู่ที่แอดอัดทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เช่นการเสียดสี แก่งแย่ง ทะเลาะวิวาท หรือแม้กระทั่งการขาดเพื่อน ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวก็ทำให้เกิดความเครียซึ่งถือว่ามีสาเหตุจากสังคมได้เช่นกัน
1.3 สภาวการณ์และเหตุการณ์อื่น ซึ่งเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ทำให้บุคคลต้องมีการปรับตัว สามารถแบ่งได้ 2 ประเภทดังนี้
1.3.1 สภาวการณ์ที่ก่อให้เกิดความชื่นชมยินดี เช่น การแต่งงาน การตั้งครรภ์และการคลอดบุตร เป็นต้น
1.3.2 สภาวการณ์ที่ก่อให้เกิดควารันทดใจ เช่น การหย่าร้างของคู่สมรส สมาชิกในครอบครัวเจ็บป่วย เป็นต้น

2. สาเหตุจากภายในตัวบุคคล ซึ่งปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเครียดแบ่งได้ 3 ประเภทได้แก่
2.1 โครงสร้างของร่างกายและสภาวะทางสรีรวิทยา เป็นส่วนที่ได้การถ่ายทอดจากบรรพบุรษ บางคนมีโครงสร้างร่างกายที่ไม่สมบูรณ์ทำให้ร่างกายเติบโตได้ไม่เต็มที่ ทำให้เกิดโรคต่างๆ ได้ง่าย
2.2 ระดับพัฒนาการ ร่างกายที่มีพัฒนาการไม่ปกติ เนื่องจากได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ จึงทำให้เติบโตช้ากว่าปกติ
2.3 การรับรู้และการแปลเหตุการณ์ เหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดอารมณ์ กลัว โกรธ กังวัล หรือตื่นเต้น จะทำให้ร่างกายถูกกระตุ้นและมีการตอบสนองทางด้านสรีรวิทยา การรับรู้จึงเป็นตัวสำคัญในการที่จะทำให้บุคคลสนองต่อเหตุกาณณ์ไปในทางที่ดีหรือในทางที่เลวร้ายได้ เหตุการณ์อย่างหนึ่งทำให้คนสองคนรับรู้ได้ไม่เหมือนกัน และมีการสนองตอบต่อเหตุการณ์ที่แตกต่างกัน การรับรู้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ชีวิตเดิม เหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้นและท้าทายสำหรับคนหนึ่ง อาจจะทำให้อีกคนรู้สึก กลัว กังวล ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และโครงสร้างบุคคลิกภาพที่มีอิทธิพลต่อการรับรู้ของบุคคลนั้น ๆ (สุวนีย์ กิ่งแก้ว . 2554 : 85-87)

ปัจจัยอื่นที่เป็นสาเหตุแห่งความเครียด (Pasquali, 1988 อ้างใน สุวนีย์ กิ่งแก้ว . 2554 : 87)
1. สิ่งที่คุกคามต่อภาพพจน์ของบุคคล เช่นการผ่าตัดที่ทำให้บุคคลต้องสูญเสียอวัยวะสำคัญ หรือให้สูญเสียเอกลักษณ์ทางเพศ ความเจ็บป่วยที่ทำให้ร่างกายมีความพิการหลงเหลืออยู่เป็นต้น

2. ความเจ็บปวด เป็นประสบการส่วนบุคคลที่คนอื่นไม่อาจจะบอกได้ว่าปวดเจ็บมากน้อยแค่ไหน เป็นความเจ็บปวดที่ทำให้เราไม่สุขสบาย

3. การเคลื่อนไหวไม่ได้ อันเนื่องมาจากการถูกจำกัดการเคลื่อนไหว เนื่องจากโรคที่เป็นอยู่

4. การสูญเสียและการเปลี่ยนแปลง การสูญเสียบุคคลที่รัก ญาติสนิท หรือการเปลี่ยนแปลงของสถานภาพทางสังคมเช่นกลายเป็นบุคคลล้มละลาย เป็นต้น

การสนองตอบต่อความเครียดด้านจิตใจ
เมื่อเกิดความเครียด จิตใจของเรามักจะมีการกระทำที่เป็นการปกป้องตัวเองให้พ้นภาวะความไม่สุขสบายอันเนื่องมาจากความเครียด และจะหาวิธีในการลดและขจัดภาวการณ์ที่ก่อนให้เกิดความเครียดนั้น กลำหการทำงานของจิตใจในการปกป้องตนเอง (defense mechanism) หรือ Coping พฤติกรรมของจิตใจในกระบวนการปรับสมดุลทางอารมณ์ หรือกลวิธีทางด้านจิตใจที่บุคคลใช้เพื่อแก้ไขสภาวะที่ถูกคุกคามต่อเสถียรภาพทางด้านจิตใจ เพื่อลดความกดดันทางจิตใจ อารมณ์ โดยทั่วไปการสนองตอบทางด้านจิตใจอาจแยกเป็น 3 ประเภทคือ

1. การหนีและเลี่ยง (Flight) คนส่วนใหญ่บางคนหนีและเลี่ยงภาวะความเครียดโดยการปฏิเสธ (Denial) ปฏิเสธว่าตัวเองเครียด ตัวเองกำลังมีปัญหาที่แก้ไม่ตก บางคนหนีและเลี่ยงด้วยการใช้สุรา บางคนใช้ยาหรือสารเสพติดเพื่อประคับประคองจิตใจ บางคนเลี่ยงด้วยการย้ายที่อยู่ใหม่ นอนหลับ หรือสร้างวิมานในอากาศ

2. การยอมรับพร้อมทั้งเผชิญกับภาวะความเครียด (Flight) มีอยู่ได้ 2 ลักษณะคือ การต่อสู้เพื่อหาหนทางแก้ไขภาวะที่ก่อให้เกิดความเครียด หรือแก้ไขตัวเองเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อลดความเครียดนั้น

3. เรียนรู้ที่จะอยู่กับภาวะเครียด (Coexistence) ในยามที่เราไม่สามารถจะหนีจากภาวะความเครียดหรือไม่สามารถแก้ไขภาวะความเครียด เราต้องใช้วิธีการใหม่ คือการเรียนรู้ที่จะอยู่กับความเครียด การปรับเปลี่ยนตนเองโดยใช้กลำกทางจิตต่างๆ  หรือใช้กลวิธีอื่น ๆ เช่น การทำสมาธิ การวิปัสนา การแสวงหาคนช่วยเหลือเพื่อประคับประคองจิตใจอารมณ์ เป็นต้น (สุวนีย์ กิ่งแก้ว . 2554 : 89-91) ซึ่งฟรอยด์อธิบายว่า มนุษย์ไม่สามารถหลบหลีกความกังวลและความเครียดที่เกิดจาก
- กระบวนการเป็นไปทางกาย
- ความคับข้องใจ  (Frustrations)
- ความยัดแย้ง  (Conflicts)
- ความกระทบกระเทือนขวัญ  (Threats)

ภาวะเหล่านี้บีบคั้นจิตใจ มนุษย์ไม่พึงปรารถนาจึงพยายามหาทางผ่อนคลาย ดังนั้น Ego จึงแสวงหาวิธีลดภาวะไม่พึงปรารถนาเหล่านี้โดยวิธีการที่เรียกว่า กลวิธานป้องกันตัว”  Anna Freud จึงใช้แนวคิดทฤษฎีจิตวิเคราะห์พัฒนาแนวคิดเรื่องกลไกทางจิตใจ (Mechanism of defense) ซึ่งเป็นกระบวนการปกป้อง Ego ให้พ้นภาวะความหวาดกังวล (Anxiety)

ฟรอยด์เชื่อว่าผู้ป่วยทุกคนไม่ว่าจะตื่นตัวหรือเต็มใจที่จะรับการรักษามากน้อยเพียงใดก็ตาม จะมีการต่อต้านการถูกวิเคราะห์ ทั้งนี้เพราะความกลัวที่ซ่อนเร้นอยู่ในจิตใต้สำนึก การต่อต้านนี้จะมีการแสดงออกหลายรูปแบบ เป็นต้นว่าอาจจะอยู่ในรูปแบบของการพูดตลก ปกปิดเรื่องราว ปฏิเสธไม่ยอมพูด ไม่ยอมรับรู้เรื่องราว ไม่มาตามนัด หยุดพูดอย่างฉับพลัน การต่อต้านเกิดขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงและเพื่อปกป้องตนเองให้พ้นภาวะวิตกกังวล หรือเพื่อประโยชน์บางประการ

กลไกการปกป้องตนเอง (Defence Machanism) กลไกทางจิตซึ่งช่วยปกป้องจิตใจให้พ้นจากความคิด ความรู้สึกและการกระทำที่ตนเองยอมรับไม่ได้ เป็นกลวิธีในการที่คนเราจะปรับต้วอยู่กับภาวะความคับข้องใจ ภาวะไม่สมหวัง และภาวการณ์ที่ก่อให้เกิดความวิตกกังวลที่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน ฟรอยด์กล่าวว่า กลไกการปกป้องตนเองนี้สามารถทำให้ผู้รักษาสามารถวิเคราะห์และทำความเข้าใจจิตใจส่วนไร้สำนึกและภาวการณ์ต่างๆ ที่รบกวนสมดุลทางด้านจิตใจของผู้ป่วย และสุดท้ายกลไกการปกป้องตนเองเป็นสิ่งบ่งบอกภาวะการต่อต้านของผู้ป่วยได้ การทำความเข้าใจกลไกของการปกป้องตนเองจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้รักษาโดยหระบวนการการทำจิตวิเคราะห์ เพราะการเจาะวิเคราะห์ ความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมของผู้ป่วย ส่วนหนึ่งต้องอาศัยการวิเคราะห์กลไกการปกป้องตนเอง (สุวนีย์ กิ่งแก้ว . 2554 : 294-295) (Elton B.McNeil , Zick Rubin..  1981: 300-302)


สรุปได้ว่า
          การอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ตามหลักวิชาจิตวิทยานั้น   จึงมีความเป็นทั้งศิลป์และศาสตร์ เพราะนักจิตวิทยาถือว่า   "พฤติกรรมหรือการกระทำทุกอย่างจะต้องมีสาเหตุ และทุกพฤติกรรมที่เกิดขึ้นล้วมีความหมายไม่ได้เกิดขึ้นมาโดยบังเอิญ แต่จะมีจิตใจส่วนหนึ่งดำเนินการและสั่งการ" เราจึงต้องมาค้นหาดูว่าอะไรเป็นสาเหตุ และทำไมจึงเกิดเหตุการณ์เช่นนั้น บางครั้งความหมายที่แฝงอยู่เบื้องหลังพฤติกรรมบางพฤติกรรมอาจมีสาเหตุมาจากประสบกการณ์ชีวิตในวัยต้น ดังนั้นผู้ที่ยึดแนวความคิดทฤษฎีจิตวิเคราะห์ในการรักษาผู้มีพฤติกรรมแปรปรวนจะไม่ปล่อยให้ปรากฎการณ์ทางจิตใจที่เรียกว่า Mental phenomena ให้ผ่านไปโดยไร้ความหมาย และจะคิดว่าเป็นเพียงเหตุบังเอิญไม่ได้ แต่จะต้องค้นหาดูว่าอะไรเป็นสาเหตุและทำไมจึงเกิดเหตุการณ์เช่นนั้น

          การศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์  จึงประกอบด้วยกระบวนการ ขั้นตอนทางวิทยาศาสตร์ กล่าวคือ มีการตั้งปัญหาที่จะศึกษาสาเหตุนั้นขึ้น  มีข้อสมมติฐานคาดคะเนถึงคำตอบของปัญหา   รวบรวมข้อมูลเพื่อสนับสนุนข้อสมมติฐาน นำข้อมูลที่หามาได้มาทำการทดลองและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อจะนาไปสู่การประเมินและสรุปผลที่ได้จากการศึกษานั้น   และขั้นตอนสุดท้ายคือนำผลที่ได้จากการศึกษานั้นมาอธิบายพฤติกรรมว่าเกิดจากสาเหตุใด  แล้วนำผลนั้นไปประยุกต์ใช้เพื่อจะแก้ปัญหาต่อไป อันเป็นจุดมุ่งหมายของจิตวทยาคือเพื่อความเข้าใจ(Understanding)   การทำนาย (Predivtion)  และการควบคุม (Control)  พฤติกรรมมนุษย์ในสถานการณ์ต่าง ๆ


เอกสารอ้างอิง
Elton B.McNeil  , Zick Rubin.  1981 .The psychology of being human , Third edition . Harper & Row , Publishers,  New York

กิติกร มีทรัพย์.  (2554) . พื้นฐานทฤษฎีจิตวิเคราะห์.  พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์สมิตร

สุวนีย์ เกี่ยวกิ่งแก้ว .  (2554) .  การพยาบาลจิตเวช. พิมพ์ครั้งที่ 2 .กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

พระมหาศุภวัฒน์ ชุติมฺนโต (สุขดำ). (2548).  การศึกษาเปรียบเทียบแนวความคิดเรื่อง พฤติกรรมของมนุษย์ในทรรศนะของพุทธปรัชญาเถรวาทกับ ซิกมันด์ ฟรอยด์.  ปรัญญาพุทธศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาปรัชญา บัณฑิตวิทยาลัย. กรุงเทพฯ.  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย