นักจิตวิทยาให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์
โกสินธุ์ อัคครุ่งเรือง นักจิตวิทยาให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์ |
เมื่อมีการกล่าวถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
จำเป็นต้องมีกรอบแนวความคิดเพื่อกำหนดทิศทางของเรื่องที่กำลังจะกล่าวถึง
เป็นการป้องกันไม่ให้ออกนอกกรอบ หรือทิศทางที่ต้องการจนเกินไป
กรอบแนวความคิดจึงเป็นความรู้ชุดหนึ่งที่ประกอบไปด้วยแนวคิดของนักวิชาการหลาย ท่าน
เป็นการรวบรวมหลักการทั่ว ๆ ไป (General principle) และเป็นหลักการที่สามารถนำมาใช้อ้างอิงหรืออธิบายปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นได้
(Explanatory principle) ซึ่งองค์ความรู้ที่รวบรวมมานั้นจะกรอบแนวความคิดพื้นฐานสำหรับผู้ให้คำปรึกษานำไปใช้ในการวิเคราะห์และอธิบายพฤติกรรมหรือแนวความคิดที่เกิดขึ้นของผู้รับคำปรึกษา
แนวคิดที่สำคัญ
จิตสำนึกและจิตใต้สำนึกมีส่วนเกี่ยวข้องกับบุคลิกภาพและแสดงออกของมนุษย์
Freud เชื่อว่าพฤติกรรมทุกพฤติกรรมมีความหมาย และไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ
แต่จะมีจิตใจส่วนหนึ่งดำเนินการและสั่งการ ทำให้เกิดรูปแบบพฤติกรรมที่มีความหมายโดยเจ้าตัวไม่ตระหนัก
ความหมายที่ซ่อนแฝงอยู่เบื้องหลังพฤติกรรมบางพฤติกรรมมีสาเหตุมาจากประสบการณ์ชีวิตในวัยต้น เช่น การพูดอย่างระมัดระวัง
หรือการพลั้งเผลออย่างไม่รู้ตัว
ฟรอยด์
ได้อธิบายว่าจิตใจของคนแม้จะไม่มีตัวตนให้เห็นเด่นชัด แต่ก็สามารถอธิบายและทำความเข้าใจได้
โดยกระบวนการการทำงานของจิตใจ
โดยเปรียบเทียบโครงสร้างทางจิตของมนุษย์ว่ามีสภาพคล้ายภูเขาน้ำแข็งที่ลอยอยู่ในมหาสมุทร
มีส่วนน้อยที่ลอยอยู่เหนือผิวน้ำเปรียบได้กับระดับจิตสำนึกควบคุม
และส่วนที่อยู่ใต้ผิวน้ำซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าเปรียบได้กับภาวะจิตใต้สำนึก
และจิตในระดับใต้สำนึกนั้นประกอบด้วยกลไกทางจิตหลายประเภทช่น แรงจูงใจ
อารมณ์ที่ถูกเก็บกด ความรู้สึกนึกคิด ความฝัน ความทรงจำ ฯลฯ
ทำให้คนมีพฤติกรรมที่แตกต่างกัน
โดยพฤติกรรมบางพฤติกรรมสามารที่จะอธิบายให้เข้าใจได้
แต่อีกหลายพฤติกรรมนั้นสร้างความสับสนที่ไม่สามารถจะเข้าใจได้
เพื่อทำความเข้าใจถึงสาเหตุพฤติกรรมมนุษย์
ฟรอยด์ได้อธิบายถึงโครงสร้างบุคลิกภาพสรุปได้ดังนี้
โครงสร้างบุคลิกภาพ
โครงสร้างบุคลิกภาพตามแนวคิดของฟรอยด์
ประกอบด้วยพลัง 3 ประการ ได้แก่ Id Ego และ Super Ego พลังทั้ง 3
มีลักษณะเฉพาะตัว แต่ก็มีอิทธิพลต่อกันและทำงานสัมพันธ์กันตลอดเวลา
บุคลิกภาพของผู้ใดมีลักษณะใดขึ้นอยู่กับพลัง Id Ego และ Super
Ego ทำงานร่วมกันในลักษณะอย่างไร
1. Id หรือสัญชาติญาณ
พลังงานที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิด เป็นส่วนที่ยังไม่ได้รับการขัดเกลา
ดำเนินการโดยสัญชาตญาณธรรมชาติ โดยพื้นฐานบุคคลมีความปรารถนาให้ชีวิตมีความสุขสบาย
Id จึงเป็นพลังที่ผลักดันให้บุคคลแสวงหาความสุขความพอใจ
โดยการตอบสนองความต้องการทางร่างกายอย่างปราศจากเหตุผลหรือความถูกต้องดีงาม
พลัง Id จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พลังแสวงหาความสุข (Pleasure
Seeking Principle)
2. Ego เป็นพลังแห่งการรู้และเข้าใจ
การรับรู้ข้อเท็จจริง การใช้เหตุผลกลั่นกรองก่อนที่จะดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมาย Ego
จึงทำหน้าที่คล้ายสะพานเชื่อมที่แสวงหาวิธีการตอบสนองความต้องการ (Id)
โดยไม่ขัดต่อสำนึกผิดชอบชั่วดี (Super Ego ) จนเกินไป เช่น เมื่อหิว พลัง Ego
ก็จะใช้เหตุผลตรึกตรองว่าจะบำบัดความหิวได้โดยวิธีใด
ตามสถานภาพแวดล้อม เช่น ไปสำรวจตู้เย็นก่อน ทำอาหารเอง ไปรับประทานอาหารนอกบ้าน
ฯลฯ จึงมีชื่อเรียกว่า Ego อีกอย่างว่าพลัง “รู้ความจริง” ( Resllity
Principle)
3. Super Ego เป็นส่วนของบุคลิกภาพที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของมาตรฐานหรือคุณค่าทางศีลธรรมจรรยา
คอยควบคุม Ego ให้หาวิธีที่เหมาะสมที่สุดในการสนองความต้องการ
Id โดยเหนี่ยวรั้งให้ทำอะไรอยู่ในกรอบประเพณี ถูกเหตุถูกผล
ให้คำนึงถึงความผิชอบชั่วดี มีคุณธรรม และสังคมเป็นใหญ่ โดยว่วนนี้จะควบคุมทั้งด้านความคิด
ความรู้สึก และการกระทำ ประกอบด้วยระบบ 2 ระบบ คือ
3.1 The ego ideal คือการลอกเลียนแบบบุคคลในอุดมคติ
เมื่อบุคคลมีความเชื่อว่าคนดีมีลักษณะอย่างไร
หากปฏิบัติตามความเชื่อนั้นได้บุคคลก็จะรู้สึกภูมิใจ
3.2 The conscience คือการควบคุมให้บุคคลปฏิบัติตนให้อยู่ในมาตรฐานความเป็นคนดีที่ตนกำหนดไว้
หากบุคคลละเมินมาตรฐานความเป็นคนดีของตนเอง ก็จะเกิดความรู้สึกผิดหรือละอาย
จากทฤษฎีดังกล่าวข้างต้นสามารถสรุปได้ว่า
บุคลิกภาพของแต่ละบุคคลมากจากความสัมพันธ์ระหว่าง Id Ego และSuper Ego โดย Id เปรียบเสมือนสัญชาติญาณหรือตัณหาที่แสวงหาแต่ความพึงพอใจเพื่อมาตอบสนองต่อความต้องการของตนเอง
ส่วน Super Ego เปรียบเสมือนมโนธรรมทำหน้าที่คอยเตือนหรือควบคุมไม่ให้
Ego แสดงอาการตามความเรียกร้องของสัญชาติญาณ
บุคคลจะมีการแสดงออกทางพฤติกรรมตอบสนองในลักษณะใดนั้นขึ้นอยู่กับว่าพลังใดระหว่าง Id หรือ Super Ego จะมีอำนาจต่อการตัดสินใจของ Ego มากกว่ากัน
จากการทำงานที่ขัดแย้งกันของพลังทั้งสามส่วน
ทำให้มนุษย์จำเป็นต้องมีการปรับตัวตามสถานการณ์ที่เข้ามาอยู่ตลอดเวลา
ความวิตกกังกล (Anxiety)
ฟรอยด์ เชื่อว่า
(อ้างใน กิติกร มีทรัพย์. 2554) ความหวาดกังวลเป็นเรื่องที่มนุษย์หลีกเลี่ยงไม่พ้น
เพราะความปรารถนาของมนุษย์ไม่ได้รับการสนองสมใจเสมอไป หรือ Ego ไม่สามารถควบคุม Id และ Super ego ได้อย่างสมดุลเหมาะเจาะตลอดมา
ฟรอยด์แบ่งความหวาดกังวลออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
(1) ความวิตกกังวลต่อสิ่งที่เป็นจริง
(Reality Anxiety) ได้แก่
ความหวาดกลัวอันตรายจากสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่อยู่รอบตัวเรา เป็นต้นกำเนิดของ Neurotic Anxiety และ Moral
Anxiety เป็นความกังวลที่เกิดข้ึนกับมนุษย์เราเป็นส่วนใหญ่ เช่น
กลัวงูมีพิษ คนถือปืน เป็นต้น
(2) ความวิตกกังวลแบบโรคประสาท (Neurotic
Anxiety) ความวิตกกังวลประเภทนี้ถูกกระตุ้นโดยภาพของความตื่นกลัวจากสัญชาตญาณ
(Id) ได้แก่
ความหวาดกลัวตัวเองว่า ตนจะไม่สามารถคุมสัญชาตญาณได้ จะทำสิ่งที่น่าอับอายขายหน้า
จะถูกประจาน ประณาม และถูกลงโทษ
(3) ความวิตกกังวลเชิงศีสธรรม (Moral
Anxiety) เนื่องมาจากคุณธรรมที่มาจากภายใน
(Super Ego) ได้แก่
ความหวาดกลัวที่เกิดจากความสำนึกผิดชอบชั่วดี
ความเครียด (Stress)
ความเครียดเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ทุกคนไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ตลอดชีวิตของเรานั้นจะต้องประสบกับการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกร่างกายตลอดเวลา
การเปลี่ยนแปลงทำให้เราต้องมีการปรับตัว การปรับตัวทำให้เราเกิดความเครียดขึ้น
และถ้าเราปรับตัวล้มเหลวก็จะทำให้เกิดภาวะอารมณ์วิกฤตขึ้นได้
ความเครียดเพียงเล็กน้อยเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตประจำวัน
เพราะมีส่วนช่วยกระตุ้นร่างกายและจิตใจให้มีปฏิกิริยาสนองตอบ
และผลของการกระตุ้นนี้เองทำให้มนุษย์มีการปรับตัวทั้งด้านร่างกายและจิตใจ
การปรับตัวทางด้านร่างกายทำให้มีแรงต้านทานโรค
ส่วนทางจิตใจทำให้มีการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น
มีความสามารถและทักษะการแก้ปัญหาชีวิตได้ดีขึ้น ความเครียดที่มีอยู่อย่างต่อเนื่องและมีอยู่ในระยะเวลานานๆ
เท่านั้นที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคทางร่างกายและทางจิต
ความเครียดคือการตอบสนองของบุคคลที่ระบุอย่างชัดแจ้งไม่ได้ต่อสภาวการณ์บางอย่างที่คุกคามต่อความมั่นคงปลอดภัยของชีวิต
ซึ่งการสนองตอบนี้มีลักษณะเฉพาะในแต่ละคนไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน
จะปรากฎให้เห็นในรูปอาการแสดงออกบางอย่าง และเป็นต้นเหตุให้มีการเปลี่ยนแปลงหลายๆ
อย่าง ภายในร่างกายของบุคคล ทำให้บุคคลต้องมีการปรับตัวทั้งด้านร่างกายและจิตใจ
สภาวการณ์ที่ก่อให้เกิดความเครียดในคนหนึ่งไม่จำเป็นจะต้องเหมือนกับอีกคนหนึ่ง
สภาวการณ์อย่างเดียวกัน อาจทำให้คนหนึ่งเครียดคนหนึ่งไม่เครียด
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และการรับรู้ของบุคคล และขึ้นอยู่กับปัจจัยอีกหลายๆ
อย่าง เป็นต้นว่า วันเวลา การรับรู้ ความเข้มแข็งของบุคคล
ระบบประคับประคองภายในบุคคล และที่ได้รับจากบุคคลภายนอก สมาชิกในครอบครัว เพื่อน
องค์กรต่างๆ ในชุมชน เป็นต้น (สุวนีย์ กิ่งแก้ว . 2554 : 84)
สาเหตุของความเครียด
ความเครียดเกิดขึ้นได้จากหลายๆ
สาเหตุ จำแนกได้เป็นสองสาเหตุคือ
1. สาเหตุจากภายนอกตัวบุคคล
มีหลายสาเหตุที่เกิดขึ้นในกระบวนการดำเนินชีวิต
1.1 สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ
ได้แก่สิ่งของรอบตัวเราที่สัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้าอยู่เป็นประจำ เช่น
อากาศร้อนไป หนาวไป ทำให้ร่างกายไม่สุขสบาย หากต้องอยู่ในภาวะเหล่านี้
เราจะรู้สึกไม่สบาย ปวดศรีษะ และอารมณ์เสียได้ง่าย
นั่นเป็นเพราะว่าเรากำลังอยู่ในอารมณ์เครียด
หรือการขาดแคลนปัจจัยสำหรับการดำรงชีวิต เช่นอาหาร น้ำ เครื่องนุ่งห่ม
ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค
ก็เป็นสาเหตุของความเครียดได้
1.2 สังคมและสัมพันธภาพกับคนอื่น
การมีความสัมพันธ์กับคนในสังคมอาจทำให้เกิดความเครียดได้
เช่นการไม่ปรองดองกันของบุคคลในครอบครัว ทำให้เกิดความเครียดทางใจ
สภาพความเป็นอยู่ที่แอดอัดทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เช่นการเสียดสี แก่งแย่ง
ทะเลาะวิวาท หรือแม้กระทั่งการขาดเพื่อน
ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวก็ทำให้เกิดความเครียซึ่งถือว่ามีสาเหตุจากสังคมได้เช่นกัน
1.3 สภาวการณ์และเหตุการณ์อื่น ซึ่งเหตุการณ์ต่างๆ
เหล่านี้ทำให้บุคคลต้องมีการปรับตัว สามารถแบ่งได้ 2
ประเภทดังนี้
1.3.1
สภาวการณ์ที่ก่อให้เกิดความชื่นชมยินดี เช่น การแต่งงาน
การตั้งครรภ์และการคลอดบุตร เป็นต้น
1.3.2 สภาวการณ์ที่ก่อให้เกิดควารันทดใจ
เช่น การหย่าร้างของคู่สมรส สมาชิกในครอบครัวเจ็บป่วย เป็นต้น
2. สาเหตุจากภายในตัวบุคคล
ซึ่งปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเครียดแบ่งได้ 3 ประเภทได้แก่
2.1
โครงสร้างของร่างกายและสภาวะทางสรีรวิทยา เป็นส่วนที่ได้การถ่ายทอดจากบรรพบุรษ
บางคนมีโครงสร้างร่างกายที่ไม่สมบูรณ์ทำให้ร่างกายเติบโตได้ไม่เต็มที่ ทำให้เกิดโรคต่างๆ
ได้ง่าย
2.2 ระดับพัฒนาการ
ร่างกายที่มีพัฒนาการไม่ปกติ เนื่องจากได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ
จึงทำให้เติบโตช้ากว่าปกติ
2.3 การรับรู้และการแปลเหตุการณ์
เหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดอารมณ์ กลัว โกรธ กังวัล หรือตื่นเต้น
จะทำให้ร่างกายถูกกระตุ้นและมีการตอบสนองทางด้านสรีรวิทยา
การรับรู้จึงเป็นตัวสำคัญในการที่จะทำให้บุคคลสนองต่อเหตุกาณณ์ไปในทางที่ดีหรือในทางที่เลวร้ายได้
เหตุการณ์อย่างหนึ่งทำให้คนสองคนรับรู้ได้ไม่เหมือนกัน
และมีการสนองตอบต่อเหตุการณ์ที่แตกต่างกัน
การรับรู้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ชีวิตเดิม เหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้นและท้าทายสำหรับคนหนึ่ง
อาจจะทำให้อีกคนรู้สึก กลัว กังวล
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และโครงสร้างบุคคลิกภาพที่มีอิทธิพลต่อการรับรู้ของบุคคลนั้น
ๆ (สุวนีย์ กิ่งแก้ว . 2554 : 85-87)
ปัจจัยอื่นที่เป็นสาเหตุแห่งความเครียด
(Pasquali,
1988 อ้างใน สุวนีย์ กิ่งแก้ว . 2554 : 87)
1. สิ่งที่คุกคามต่อภาพพจน์ของบุคคล
เช่นการผ่าตัดที่ทำให้บุคคลต้องสูญเสียอวัยวะสำคัญ หรือให้สูญเสียเอกลักษณ์ทางเพศ
ความเจ็บป่วยที่ทำให้ร่างกายมีความพิการหลงเหลืออยู่เป็นต้น
2. ความเจ็บปวด
เป็นประสบการส่วนบุคคลที่คนอื่นไม่อาจจะบอกได้ว่าปวดเจ็บมากน้อยแค่ไหน
เป็นความเจ็บปวดที่ทำให้เราไม่สุขสบาย
3. การเคลื่อนไหวไม่ได้
อันเนื่องมาจากการถูกจำกัดการเคลื่อนไหว เนื่องจากโรคที่เป็นอยู่
4. การสูญเสียและการเปลี่ยนแปลง
การสูญเสียบุคคลที่รัก ญาติสนิท
หรือการเปลี่ยนแปลงของสถานภาพทางสังคมเช่นกลายเป็นบุคคลล้มละลาย เป็นต้น
การสนองตอบต่อความเครียดด้านจิตใจ
เมื่อเกิดความเครียด
จิตใจของเรามักจะมีการกระทำที่เป็นการปกป้องตัวเองให้พ้นภาวะความไม่สุขสบายอันเนื่องมาจากความเครียด
และจะหาวิธีในการลดและขจัดภาวการณ์ที่ก่อนให้เกิดความเครียดนั้น
กลำหการทำงานของจิตใจในการปกป้องตนเอง (defense mechanism) หรือ Coping
พฤติกรรมของจิตใจในกระบวนการปรับสมดุลทางอารมณ์
หรือกลวิธีทางด้านจิตใจที่บุคคลใช้เพื่อแก้ไขสภาวะที่ถูกคุกคามต่อเสถียรภาพทางด้านจิตใจ
เพื่อลดความกดดันทางจิตใจ อารมณ์ โดยทั่วไปการสนองตอบทางด้านจิตใจอาจแยกเป็น 3 ประเภทคือ
1. การหนีและเลี่ยง
(Flight) คนส่วนใหญ่บางคนหนีและเลี่ยงภาวะความเครียดโดยการปฏิเสธ
(Denial) ปฏิเสธว่าตัวเองเครียด ตัวเองกำลังมีปัญหาที่แก้ไม่ตก
บางคนหนีและเลี่ยงด้วยการใช้สุรา บางคนใช้ยาหรือสารเสพติดเพื่อประคับประคองจิตใจ
บางคนเลี่ยงด้วยการย้ายที่อยู่ใหม่ นอนหลับ หรือสร้างวิมานในอากาศ
2. การยอมรับพร้อมทั้งเผชิญกับภาวะความเครียด
(Flight) มีอยู่ได้ 2 ลักษณะคือ
การต่อสู้เพื่อหาหนทางแก้ไขภาวะที่ก่อให้เกิดความเครียด
หรือแก้ไขตัวเองเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อลดความเครียดนั้น
3. เรียนรู้ที่จะอยู่กับภาวะเครียด
(Coexistence) ในยามที่เราไม่สามารถจะหนีจากภาวะความเครียดหรือไม่สามารถแก้ไขภาวะความเครียด
เราต้องใช้วิธีการใหม่ คือการเรียนรู้ที่จะอยู่กับความเครียด
การปรับเปลี่ยนตนเองโดยใช้กลำกทางจิตต่างๆ
หรือใช้กลวิธีอื่น ๆ เช่น การทำสมาธิ การวิปัสนา
การแสวงหาคนช่วยเหลือเพื่อประคับประคองจิตใจอารมณ์ เป็นต้น (สุวนีย์ กิ่งแก้ว . 2554
: 89-91) ซึ่งฟรอยด์อธิบายว่า
มนุษย์ไม่สามารถหลบหลีกความกังวลและความเครียดที่เกิดจาก
- กระบวนการเป็นไปทางกาย
- ความคับข้องใจ (Frustrations)
- ความยัดแย้ง (Conflicts)
- ความกระทบกระเทือนขวัญ (Threats)
ภาวะเหล่านี้บีบคั้นจิตใจ
มนุษย์ไม่พึงปรารถนาจึงพยายามหาทางผ่อนคลาย ดังนั้น Ego จึงแสวงหาวิธีลดภาวะไม่พึงปรารถนาเหล่านี้โดยวิธีการที่เรียกว่า
“กลวิธานป้องกันตัว”
Anna Freud จึงใช้แนวคิดทฤษฎีจิตวิเคราะห์พัฒนาแนวคิดเรื่องกลไกทางจิตใจ
(Mechanism of defense) ซึ่งเป็นกระบวนการปกป้อง Ego ให้พ้นภาวะความหวาดกังวล (Anxiety)
ฟรอยด์เชื่อว่าผู้ป่วยทุกคนไม่ว่าจะตื่นตัวหรือเต็มใจที่จะรับการรักษามากน้อยเพียงใดก็ตาม
จะมีการต่อต้านการถูกวิเคราะห์ ทั้งนี้เพราะความกลัวที่ซ่อนเร้นอยู่ในจิตใต้สำนึก
การต่อต้านนี้จะมีการแสดงออกหลายรูปแบบ เป็นต้นว่าอาจจะอยู่ในรูปแบบของการพูดตลก
ปกปิดเรื่องราว ปฏิเสธไม่ยอมพูด ไม่ยอมรับรู้เรื่องราว ไม่มาตามนัด
หยุดพูดอย่างฉับพลัน
การต่อต้านเกิดขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงและเพื่อปกป้องตนเองให้พ้นภาวะวิตกกังวล
หรือเพื่อประโยชน์บางประการ
กลไกการปกป้องตนเอง
(Defence
Machanism) กลไกทางจิตซึ่งช่วยปกป้องจิตใจให้พ้นจากความคิด
ความรู้สึกและการกระทำที่ตนเองยอมรับไม่ได้
เป็นกลวิธีในการที่คนเราจะปรับต้วอยู่กับภาวะความคับข้องใจ ภาวะไม่สมหวัง
และภาวการณ์ที่ก่อให้เกิดความวิตกกังวลที่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน ฟรอยด์กล่าวว่า กลไกการปกป้องตนเองนี้สามารถทำให้ผู้รักษาสามารถวิเคราะห์และทำความเข้าใจจิตใจส่วนไร้สำนึกและภาวการณ์ต่างๆ
ที่รบกวนสมดุลทางด้านจิตใจของผู้ป่วย
และสุดท้ายกลไกการปกป้องตนเองเป็นสิ่งบ่งบอกภาวะการต่อต้านของผู้ป่วยได้
การทำความเข้าใจกลไกของการปกป้องตนเองจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้รักษาโดยหระบวนการการทำจิตวิเคราะห์
เพราะการเจาะวิเคราะห์ ความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมของผู้ป่วย
ส่วนหนึ่งต้องอาศัยการวิเคราะห์กลไกการปกป้องตนเอง (สุวนีย์
กิ่งแก้ว . 2554 : 294-295) (Elton B.McNeil , Zick Rubin.. 1981: 300-302)
สรุปได้ว่า
การอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ตามหลักวิชาจิตวิทยานั้น จึงมีความเป็นทั้งศิลป์และศาสตร์
เพราะนักจิตวิทยาถือว่า
"พฤติกรรมหรือการกระทำทุกอย่างจะต้องมีสาเหตุ และทุกพฤติกรรมที่เกิดขึ้นล้วมีความหมายไม่ได้เกิดขึ้นมาโดยบังเอิญ
แต่จะมีจิตใจส่วนหนึ่งดำเนินการและสั่งการ"
เราจึงต้องมาค้นหาดูว่าอะไรเป็นสาเหตุ และทำไมจึงเกิดเหตุการณ์เช่นนั้น
บางครั้งความหมายที่แฝงอยู่เบื้องหลังพฤติกรรมบางพฤติกรรมอาจมีสาเหตุมาจากประสบกการณ์ชีวิตในวัยต้น
ดังนั้นผู้ที่ยึดแนวความคิดทฤษฎีจิตวิเคราะห์ในการรักษาผู้มีพฤติกรรมแปรปรวนจะไม่ปล่อยให้ปรากฎการณ์ทางจิตใจที่เรียกว่า
Mental
phenomena ให้ผ่านไปโดยไร้ความหมาย
และจะคิดว่าเป็นเพียงเหตุบังเอิญไม่ได้
แต่จะต้องค้นหาดูว่าอะไรเป็นสาเหตุและทำไมจึงเกิดเหตุการณ์เช่นนั้น
การศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์ จึงประกอบด้วยกระบวนการ ขั้นตอนทางวิทยาศาสตร์
กล่าวคือ มีการตั้งปัญหาที่จะศึกษาสาเหตุนั้นขึ้น
มีข้อสมมติฐานคาดคะเนถึงคำตอบของปัญหา
รวบรวมข้อมูลเพื่อสนับสนุนข้อสมมติฐาน
นำข้อมูลที่หามาได้มาทำการทดลองและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อจะนาไปสู่การประเมินและสรุปผลที่ได้จากการศึกษานั้น และขั้นตอนสุดท้ายคือนำผลที่ได้จากการศึกษานั้นมาอธิบายพฤติกรรมว่าเกิดจากสาเหตุใด แล้วนำผลนั้นไปประยุกต์ใช้เพื่อจะแก้ปัญหาต่อไป
อันเป็นจุดมุ่งหมายของจิตวทยาคือเพื่อความเข้าใจ(Understanding) การทำนาย (Predivtion) และการควบคุม (Control) พฤติกรรมมนุษย์ในสถานการณ์ต่าง ๆ
เอกสารอ้างอิง
Elton B.McNeil , Zick Rubin.
1981 .The psychology of being human , Third edition . Harper & Row ,
Publishers, New York
กิติกร
มีทรัพย์. (2554) . พื้นฐานทฤษฎีจิตวิเคราะห์.
พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์สมิตร
สุวนีย์ เกี่ยวกิ่งแก้ว
. (2554) .
การพยาบาลจิตเวช. พิมพ์ครั้งที่ 2 .กรุงเทพมหานคร
: สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
พระมหาศุภวัฒน์
ชุติมฺนโต (สุขดำ). (2548). การศึกษาเปรียบเทียบแนวความคิดเรื่อง
พฤติกรรมของมนุษย์ในทรรศนะของพุทธปรัชญาเถรวาทกับ ซิกมันด์ ฟรอยด์. ปรัญญาพุทธศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาปรัชญา
บัณฑิตวิทยาลัย. กรุงเทพฯ.
มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น