วันศุกร์ที่ 11 มกราคม พ.ศ. 2562

อ่านพฤติกรรมมนุษย์ ตอน ข้อคิดดี ๆ ถ้าอยู่คนเดียวแล้วงูเข้าบ้านจะทำอย่างไร?


เช้าวันนี้ผมนั่งดูความเคลื่อนไหวของเพื่อน ๆ ในเฟสบุ๊คแบบเพลิน ๆ ตามปกติ ก็เลื่อนไปเห็นข้อความของน้องเจน (รุ่นน้องป.โท) ที่มีเนื้อหาสะดุดตาว่า สงสัยจะเนื้อคู่จะมา​ เจอแต่เช้าเลย ขอบคุณ​เพื่อนบ้านใจดีที่จับให้​ น่ากลัวมาก​ คืนนี้จะนอนหลับมั้ยเนี่ยะ



ปัญหาเรื่อง งูเข้าบ้านที่ไม่ว่างูตัวนั้นจะมีพิษหรือไม่ ก็นับได้ว่าเป็นสถานการณ์ที่น่าขนลุกมากเหตุการณ์หนึ่ง หลังจากผมได้เห็นรูปเจ้างูตัวนั้นก็เกิดคำถามขึ้นในใจว่า ถ้าเป็นเราจะทำอย่างไร? มาถึงตอนนี้ผมอยากให้ทุกคนหลับตาลงแล้วจินตนาการตามผม หากเวลานั้นเราอยู่บ้านคนเดียว เราสามารถทำอะไรได้บ้าง ไม่น่าเชื่อครับหลังจากลองจิตนาการดูก็พบว่า ความรู้ที่ได้จากนักจิตวิทยาที่ชื่อ ลาซารัส และโฟล์คแมน ที่ผมเกือบจะลืมทฤษฎีนี้ไปแล้ว ได้ลอยออกมาจากคลังความรู้ที่อยู่ลึกเกือบที่สุดของสมอง เป็นความมหัศจรรย์ของสมองที่สามารถดึงเครื่องมือที่ชื่อว่า การคิดวิเคราะห์ ออกมาใช้เพื่อหาวิธีการรับมือต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแบบไม่น่าเชื่อ การเชื่อมโยงระหว่างเหตุการณ์กับองค์ความรู้หรือประสบการณ์ที่เราได้เรียนรู้มา ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ทำให้ผมคิดทางเลือกออกมาได้ 3 ทาง คือ จะสู้ จะเฉย หรือจะหนี

ลำดับต่อมาก็มาดูนิสัยของผมว่าเป็นแบบไหน แล้วจะเลือกใช้วิธีการใดในการแก้ปัญหานี้ แต่สถานการณ์งูเข้าบ้านเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นและต้องตัดสินใจในทันที รับรองได้ว่างูเข้าบ้านใครการตัดสินใจของคนนั้นจะมีความยาวเป็นเสี้ยววินาทีเท่านั้น เพราะทฤษฎีของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ ไอธิบายไว้ว่า การป้องกันตัวเองจากอันตรายเป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด (หากท่านใดไม่เชื่อลองให้งูเข้าบ้านดูสักครั้งก็ได้ครับ) ส่วนตัวผมเองมีนิสัยไม่ชอบหนีปัญหา และอีกอย่างเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้อยู่ในบ้านเราจะให้หนีก็ไม่ได้ หรือจะให้เฉยแล้วใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับงูในบ้านก็คงไม่ดี เพราะเผลอ ๆ จะได้เมียเป็นงู ถ้าไม่ถูกมันรัดตายสะก่อน สุดท้ายตัวเลือกสำหรับผมมีไม่เยอะ หลังจากประเมินสถานการณ์แล้วคงต้องสู้ แต่จะสู้อย่างไรหละ ก็มีตัวเลือกเพียง 2 ข้อเท่านั้น คือ จับเป็น หรือจับตาย คำตอบของผมที่ได้คือ ผมไม่รู้วิธีการจับงู ผมรู้แต่วิธีการฆ่างู

และแล้วการประเมินสถานการณ์ขั้นสุดท้ายก็เริ่มขึ้น เมื่อเราสรุปว่า การจับตายเป็นวิธีที่เราเลือก เราก็ต้องใช้ความคิดต่อไปอีกว่าจะใช้เครื่องมืออะไรในการฆ่างู เช่น จะใช้ปืนหรือดาบดี  หรือใช้มีดทำครัวได้ไหม แต่ไม้ยาว ๆ ก็น่าจะปลอดภัยกว่า เมื่อการคิด วิเคราะห์ดำเนินมาถึงจุดนี้ ผมก็มีคำตอบในใจของผมแล้วหละ แต่ผมจะขอฝากคำถามทิ้งท้ายให้กับทุกคนคิดต่อว่า ถ้าเป็นพวกเราจะเลือกใช้อาวุธอะไรในการ ฆ่างู ?”

หากเปรียบเทียบลูกน้องที่สร้างปัญหาให้แก่องค์กร คือ งูที่เข้าบ้าน ก็ให้ระลึกไว้เสมอว่า ไม่ว่างูจะมีพิษหรือไม่ ก็จะสร้างความหวาดกลัวให้แก่เราผู้เป็นเจ้าของบ้าน ลูกน้องที่มีปัญหาก็เช่นกัน ไม่ว่าพนักงานคนนั้นจะนิสัยดีหรือไม่ ก็จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมการทำงาน แล้วเราที่เป็นหัวหน้าจะมีวิธีจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร เช่น สู้กับปัญหา โดยเรียกมาคุยมาปรับความเข้าใจกัน แตกเป็นแตก หักเป็นหัก หรือวางเฉย อยู่ได้ก็อยู่ อยู่ไม่ได้ก็ไป หรือหนีปัญหา หลบหน้าหลบตา ไม่เรียกใช้งาน หรือให้ย้ายไปทำงานหน่วยงานอื่น สิ่งเหล่านี้คือ ทักษะการบริหารและจัดปัญหาที่หัวหน้างานยุค 4.0 ต้องมี 

ไม่น่าเชื่อใช่ไหมครับว่าเรื่องงูเข้าบ้านของน้องเจนในวันนี้จะให้ข้อคิดดี ๆ แบบงง ๆ และสิ่งที่ผมได้มาแชร์ในวันนี้ ผมขอเรียกมันว่า ความอัศจรรย์ของสมอง ก็แล้วกันครับ



-โกสินธุ์ อัคครุ่งเรือง-
นักจิตวิทยาให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์