นักจิตวิทยาให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์
ในการดำเนินชีวิตประจำวัน เราต้องเผชิญกับภาวะการณ์หลายๆ อย่างทำให้มีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงตัวเองอยู่ตลอดเวลา การเผชิญกับสิ่งที่ไม่คาดฝันอาจทำให้วิถีชีวิตเราต้องมีการเปลี่ยนแปลงอย่างกระทันหัน ภาวการณ์เหล่านี้อาจจะก่อให้เกิดอารมณ์วิกฤติได้
ภาวะวิกฤติคือ
ภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงไปจากความเป็นอยู่ปกติ ทำให้มีการสูญเสียความสมดุลทางอารมณ์ ทำให้บุคคลต้องมีการตัดสินใจใหม่ เพื่อปรับสมดุลของจิตใจอารมณ์ โดยใช้กลไกการปรับสมดุลที่แตกต่างไปจากที่เคยใช้อยู่เดิม ภาวะวิกฤติเป็นภาวการณ์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเป็นภาวะที่เกิดขึ้นกับกระบวนการพัฒนาทางด้านร่างกายจิตใจและสังคม เพราะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะทำให้บุคคลมีพัฒนาการขั้นสูงขึ้น หรือเป็นสาเหตุของการเกิดโรคจิตประสาทได้ (สุวนีย์ เกี่ยวกิ่งแก้ว. 2554 : 67)องค์ประกอบภาวะวิกฤติ
ภาวะวิกฤติทางอารมณ์เกิดขึ้นได้ เมื่อมีองค์ประกอบสำคัญสามประการดังต่อไปนี้คือ (1) มีเหตุการณ์ที่คุกคามต่อบุคคล (2) เหตุการณ์นั้นมีความหมายเฉพาะต่อบุคคล (3) มีความล้มเหลวของการใช้กลไกการปรับสมดุลทางอารมณ์ องค์ประกอบทั้งสามนี้เรียกว่า Anatomy of Crisis (Boyle,1973)1. เหตุการณ์ที่คุกคาม (Threatening Event)
เหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดภาวะวิกฤติจะต้องมีลักษณะคุกคามต่อเสถียรภาพความมั่นคงทางใจ อาจจะเป็นเหตุการณ์ที่คุกคามต่อภาพพจน์ หรือเหตุการณ์ที่คุกคามความสามารถของบุคคล หรือเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องมีการสูญเสียและพลัดพลากจากกัน1.1 สิ่งที่คุกคามต่อบุคคล (Threat) ได้แก่เหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความรู้สึกหวาดหวั่น ขาดความมั่นใจ และขาดเสถียรภาพทางด้านจิตใจ หรือเหตุการณ์ที่ให้ภาพพจน์ของบุคคล และคุณค่าของบุคคลถูกบั่นทอน เช่น การถูกภาคฑัณฑ์เมื่อทำผิด บุคคลหลักของครอบครัวเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรง สิ่งคุกคามนี้อาจจะเป็นความจริงหรืออาจจะเป็นเพียงสิ่งที่บุคคลคาดคิดเอง
1.2 สิ่งที่ท้าทายความสารถ (Challenge) การได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งหน้าที่การงานที่สูงขึ้นมีความรับผิดชอบมากขึ้น การสอบแข่งขันที่จะเป็นการตัดสินอนาคต เช่นสอบเข้าเรียนต่อ เหล่านี้เป็นสิ่งที่ท้าทายความสามารถที่อาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะอารมณ์วิกฤติได้ถ้าหากกลไกการปรับตัวที่บุคคลใช้ล้มเหลวลง
1.3 การสูญเสียและการพรากจากกัน (Loss or Deprivation)
การสูญเสียอาจจะเป็นการสูญเสียจริง เช่น การตายจาก การสูญเสียทรัพย์สิน เงินทอง หรือการสูญเสียเกียรติยศชื่อเสียง การพลัดพรากจากกัน การต้องเปลี่ยนวิถีชีวิตอย่างกะทันหัน จากการหย่าร้างก่อให้เกิดภาวะวิกฤติ
2. ความหมายของเหตุการณ์ที่มีต่อบุคคล (Symbolic Meaning to the Event)
เหตุการณ์ที่ทำให้เกิดวิกฤติทางอารมณ์ได้นั้นจะต้องมีความหมายลึกซึ้งสำหรับบุคคล การสูญเสียบิดามารดาในเด็กเล็กที่ยังช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ย่อมมีความหมายลึกซึ้งและมากกว่าการสูญเสียบิดามารดาในผู้ที่ช่วยเหลือตัวเองได้ ทั้งทางด้านการดำเนินชีวิต เศรษฐกิจ และอื่นๆ การตกงานของผู้ที่ไม่มีรายได้ทางอื่นๆ ย่อมมีความหมายกว่าการตกงานของบุคคลที่ครอบครัวมีรายได้อื่นมาจุนเจือ การหย่าร้างในหญิงที่มีงานทำและมีรายได้เพียงพอในการดำเนินชีวิตย่อมมีความหมายน้อยกว่าหญิงที่ไม่มีงานทำและไม่มีรายได้ จะเห็นได้ว่าภาวะการณ์อย่างเดียวกันมีความหมายสำหรับบุคคลต่างๆ ไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับสภาวะของบุคคลและปัจจัยแวดล้อม
3. มีความล้มเหลวของการใช้กลไกการปรับตัว (Failure of Usual Coping Procedure)
ในยามปกติ เมื่อบุคคลประสบปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน บุคคลจะใช้กลไกการแก้ปัญหาและกลไกการปรับสมดุล การที่บุคคลบอกไม่มีปัญหานั่นเป็นเพราะว่าการปรับตัวและการใช้กลไกการปรับตัวของเขาบรรลุผล บุคคลอาจใช้วิธีการขจัดเหตุการณ์เครียด หนีจากเหตุการณ์เครียด หรือไม่รับรู้ว่ามีเหตุการณ์เครียด บุคคลที่ประสบภาวะอารมณ์วิกฤติได้ใช้กลไกต่างๆ เหล่านี้ แต่ไม่ประสบผลสำเร็จ ปัญหายังคงมีอยู่ความตรีงเครียดทางจิตไม่ได้ลดลง แสดงให้เห็นว่าการใช้กลไกที่เขาเคยใช้ได้ผลกลับใช้ไม่ได้ผลในเหตุการณ์ครั้งใหม่นี้ ภาวะวิกฤติจึงเกิดขึ้น จนกว่าจะมีการใช้กลไกการปรับตัวใหม่การปรับตัวของบุคคลในภาวะวิกฤติ
เมื่อมีเหตุการณ์ทีทำให้เกิดภาวะวิกฤติทางอารมณ์ บุคคลจะเริ่มรู้สึกว่สภาวะอารมณ์ของตนเองไม่เป็นปกติแสดงให้เห็นถึงความสูญเสียความสมดุลทางอารมณ์ อาจมีความรู้สึกกลัว กังวล รู้สึกผิดหวัง บุคคลจะเริ่มมีการปรับตัวโดยใช้กลไกต่างๆ ที่เคยใช้อยู่ในชีวิตประจำวันและการปรับตัวในขั้นนี้จะล้มเหลวกลไกที่เคยใช้ได้ผลจะไม่ได้ผลในครั้งนี้ ความเครียดทางอารมณ์เพิ่มมากขึ้น และจำต้องมีการปรับตัวอีกครั้งนึ่ง โดยใช้กลไกใหม่ การปรับตัวของบุคคลในภาวะนี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ขั้น คือ Shock, Defensive Retreat, Acknowledgement และ Adaptive and Change (Helvie, 1981)1. Shock ระยะตื่นตกใจจนขาดสติสัมปชัญญะ ระยะเริ่มแรกเมื่อบุคคลเผชิญกับเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดอารณ์เครียด ร่วมไปกับภาวะหวาดวิตกและกังวล ในขั้นต้นนี้บุคคลจะอยู่ในภาวะเหมือนขาดสติ ทำอะไรไม่ถูก ไม่รู้จะทำอย่างไรกับเหตุการณ์ เกิดภาวะช่วยตัวเองไม่ได้ อาจจะมีอารมณ์ตื่นกลัวสุดขึดร่วมอยู่ด้วย ความคิดและพฤติกรรมจะสับสนวุ่นวาย อยู่นิ่งไม่ได้ ภาพพจน์ของตัวเองถูกคุกคามและบั่นทอน เขาอาจจะมีการแยกตัวและถอนตัวออกจากคนอื่นๆ ระยะนี้ใช้เวลา 2-3 ชั่วโมงถึง 2-3 วัน
2. Defensive Retreat ระยะถอนตัวเพื่อปกป้องตัวเอง เป็นระยะที่บุคคลพยายามควบคุมภาวะวิตกกังวล ที่มีอยู่อย่างเหลือล้น ด้วยวิธีการสู้-หนึ เลี่ยงหรือปฏิเสธที่จะรับรู้ในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คร่ำครวญอยากให้เหตุการณ์เป็นไปอย่างที่ต้องการจะให้เป็นจะไม่ยอมรับในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ถ้าใครไปชี้แนะหรือให้ความจริงในระยนี้ ก็จะไม่รับ และจะรู้สึกว่าคนอื่นข่มขู่หรือคุกคามเขา เขาจะโกรธ ในระยะนี้บุคคลจะมีความคิดไม่ยืดหยุ่น ความรู้สึกเจ็บปวดจากเหตุการณ์ ทำให้เขายึดมั่นในความคิดของตนเอง ถ้าใครเสนอแนะให้เปลี่ยนแปลงความคิดเขาจะโกรธและต่อต้าน
3. Acknowledgement ระยะตระหนักในเหตุการณ์ และเริ่มยอมรับในเหตุการณ์เมื่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมีการพิสูจน์ว่าเป็นความจริงแล้ว เขาไม่สามารถจะปฏิเสธต่อไปได้อีก พฤติกรรมการป้องกันตัวเองในขั้นที่ 2 ก็จะสลายตัวลง บุคคลก็จะกล้าเผชิญความจริงที่เกิดขึ้น เขาจะเกิดความรู้สึก เศร้าเจ็บปวดจิตใจ ขมขื่น และจะมีอาการวุ่นวายอยู่นิ่งไม่ได้ และจะมีความงุงงงและสับสนอยู่บ้าง แต่ต่อมาเขาก็จะคิดได้และพยายามแก้ไขปัญหาโดยใช้สติปัญญาต่อไป
4. Adaptive and Change ระยะปรับตัวและเปลี่ยนแปลง ระยะนี้บุคคลเริ่มยอมรับในเหตุการณ์ในทางที่ดีขึ้น ยอมรับในภาพพจน์และเอกลักษณ์ใหม่ของตนเอง เริ่มมีความรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า ภาวะความหวาดวิตกและกังวลลดลง มองเห็นการแก้ปัญหาชีวิต และมีการคาดการณ์ภายภาคหน้าดีขึ้นกว่าเดิมมีกลไกการปรับตัวและทักษะการแก้ปัญหาใหม่
ภาวะวิกฤติไม่ได้เป็นสิ่งเลวร้าย แต่ภาวะวิกฤตทำให้บุคคลเกิดการเรียนรู้และค้นพบความสามารถใหม่ (สุวนีย์ เกี่ยวกิ่งแก้ว . 2554 : 81)
เอกสารอ้างอิง
กิติกร มีทรัพย์. (2554) . พื้นฐานทฤษฎีจิตวิเคราะห์. พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์สมิตรสุวนีย์ เกี่ยวกิ่งแก้ว . (2554) . การพยาบาลจิตเวช. พิมพ์ครั้งที่ 2 .กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.