วันศุกร์ที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2559

แนวคิดการพัฒนาบุคลากรในยุค 4.0


บทความโดย โกสินธุ์ อัคครุ่งเรือง
นักจิตวิทยาให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์


-โกสินธุ์ อัคครุ่งเรือง-

ในยุค 4.0 เรากำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ 2 อย่าง ดังนี้
1. ผลกระทบจากระบบเศรษฐกิจโลกทำให้ทุกภาคธุรกิจจำเป็นต้องขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เศรษฐกิจแบบนวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์
2. การผลัดยุคของแรงงาน หรือการเปลี่ยนจากคนยุคเบบี้บูมไปสู่คนในเจเนอเรชั่นเอ็กซ์และวาย
สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นความจำเป็นในการสร้างกลุ่มผู้นำที่มีทักษะและความรับผิดชอบที่จะกลายเป็นผู้นำที่เป็นอนาคตขององค์กร ซึ่งแนวทางของชีวิตและภาวะผู้นำยุคใหม่จะต้องมีคุณลักษณะ มีทักษะการปรับตัวอย่างรวดเร็ว เชื่อมั่นในตนเอง ตรงไปตรงมา ทำงานเป็นทีม ให้ความสำคัญกับภารกิจ และเชี่ยวชาญทางด้านการใช้เทคโนโลยี

หลักในการพัฒนาพนักงานส่วนใหญ่อ้างอิงมาจากช่วงอายุและระยะเวลาในการเติบโตในสายอาชีพ ตัวอย่างจากเส้นกราฟรูประฆังคว่ำของเส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพ (Normal Curve of Career Path) ซึ่งกราฟนี้ได้อธิบายถึง การเริ่มต้นทำงานโดยปกติจะเริ่มที่อายุระหว่าง 18-22 ปี ให้ตามข้อกำหนดกฎหมายแรงงานเรื่องว่าจ้างพนักงาน ซึ่งองค์กรส่วนใหญ่จะหลีกเลี่ยงผลกระทบการแจ้งแรงงานที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ตามมาตรา 44, มาตรา45, มาตรา46, มาตรา 47, มาตรา 48, มาตรา 50 และมาตรา 51 และการสิ้นสุดการทำงานหรือเกษียณอายุการทำงานจะอยู่ที่ช่วงอายุ 55-60 ปี โดยอ้างอิงจากการส่งเงินสมทบประกันสังคม
การพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับพนักงานใหม่
เมื่อนำช่วงอายุมาอ้างอิงกับกระบวนการศึกษาจะสรุปได้ว่า พนักงานที่เริ่มทำงานตั้งแต่อายุ 18 ปี จะมีการศึกษาอยู่ที่ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) หรือระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) หากพนักงานที่เริ่มต้นทำงานในช่วงอายุ 20-22 ปี จะมีการศึกษาอยู่ที่ระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรือปริญญาตรี เป็นต้น ดังนั้นในช่วงอายุระหว่าง 18-22 ปี เป็นช่วงอายุที่ปรับเปลี่ยนจากสังคมการศึกษามาเป็นสังคมการทำงาน ซึ่งบุคคลเหล่านี้จะต้องเรียนรู้ในเรื่องการปรับตัวทางสังคม และการพัฒนาทักษะการทำงาน เพื่อให้ตนเองสามารถทำงานในสายวิชาชีพของตนเองได้
เนื่องจากพนักงานใหม่ที่ก้าวเข้าสู่โลกของการทำงานเปรียบเสมือนผ้าขาว หากพวกเขาได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการทำงานที่ถูกต้องจะทำให้เขาทำงานได้อย่างเป็นมืออาชีพ และจะช่วยเหลืองานของพนักงานระดับหัวหน้างานได้เป็นอย่างดี จากแนวคิดนี้จึงทำให้เห็นถึงความสำคัญของพนักงานระดับหัวน้างานที่มีหน้าที่ในการสอนงาน เพราะการได้แม่พิมพ์ที่ดีก็จะทำให้ได้พนักงานใหม่ที่มีคุณภาพด้วยเช่นกัน
การพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับหัวหน้างานระดับต้น
พนักงานที่มีอายุระหว่าง 25-40 ปี พนักงานในกลุ่มนี้จะมีประสบการณ์ในทำงานในสายวิชาชีพที่ตนเองเลือกแล้ว หากกลุ่มคนเหล่านี้จะมีมาตรฐานการทำงานตามที่ได้รับการสอนงานมาจากรุ่นพี่ ทักษะที่จำเป็นต้องเพิ่มเติมคือเทคนิคการทำงานเพื่อให้ตนเองทำงานให้ดีขึ้น เป็นการเรียนรู้เพื่อให้การทำงานเกิดความสมบูรณ์ขึ้น เช่น ทักษะการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์, ทักษะการจัดเก็บเอกสาร, การใช้ KAIZEN การปรับปรุงงานเพื่อการเพิ่มผลผลิต หรือเครื่องมือการควบคุมคุณภาพ สำหรับกลุ่มคิวซี เป็นต้น
พนักงานกลุ่มนี้บางคนอาจจะก้าวเข้าสู่ผู้บริหารระดับต้น หรือเป็นหัวหน้างานที่มีลูกน้องต้องดูแล มีการติดต่อกันระหว่างหน่วยงาน จึงจำเป็นต้องพัฒนาทักษะด้านสัมพันธภาพเพิ่มเติม เพื่อนำไปสู่การบริหารทีมงานที่มีประสิทธิภาพ เมื่อก้าวเข้าสู่บทบาทหัวหน้างานระดับต้นก็จะพบประสบการณ์ด้านการบริหารคนที่ไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน หากไม่ได้การสอนวิธีการเป็นหัวหน้างานที่ถูกวิธีจะทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา เช่น การไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนเอง ไม่เข้าใจนโยบายต่าง ๆ ของบริษัท ไม่เข้าใจมุมมองและทัศนคติระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง สิ่งที่ตามมาคือ งานไม่ได้ตามเป้าหมาย หรือจำนวนลูกน้องที่ลาออกมากขึ้น หรือความเครียดสะสมในการทำงาน หลักสูตรที่เหมาะสมกับการพัฒนาคนกลุ่มนี้คือ ทักษะหัวหน้างานกับงานบริหารคน (HR for line Manager), เทคนิคการสอนงาน OJT, มนุษยสัมพันธ์กับการทำงานเป็นทีม, การสื่อสารและประสานงาน หรือจิตสำนึกรักองค์กร เป็นต้น
การพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับหัวหน้างานระดับกลาง
สำหรับพนักงานในกลุ่มผู้บริหารระดับกลางจะมีช่วงอายุประมาณ 40-55 ปี ช่วงวัยนี้เก็บเกี่ยวประสบการณ์การทำงานมาเป็นระยะเวลานานจึงมีความเชียวชาญในงานเป็นอย่างมาก ซึ่งกลุ่มคนที่มีอายุในช่วงนี้จะอยู่ในตำแหน่งหัวหน้าแผนก หรือผู้จัดการฝ่าย เป็นส่วนใหญ่ เรียกได้ว่าเป็นจุดที่สูงสุดในชีวิตการทำงาน จะมีหน้าที่ในการนำนโยบายต่าง ๆ ที่ได้รับมามอบหมายไปควบคุมการทำงานให้เป็นไปตามเป้าหมายที่องค์กรตั้งไว้ ซึ่งทักษะที่จำเป็นสำหรับบุคคลกลุ่มนี้คือ ทักษะการนำเสนอ, ทักษะการคิดวิเคราะห์และตัดสินใจแก้ไขปัญหา, การจัดทำและการบริหารเวลา, การควบคุมงานและประเมินผลการปฏิบัติงาน, ทักษะการเขียนโครงการเพื่อขออนุมัติ หรือทักษะการให้รางวัลหรือลงโทษเพื่อสร้างจูงใจให้แก่พนักงาน เป็นต้น จึงสรุปได้ว่าสิ่งที่ต้องเพิ่มเติม คือ ทักษะการบริหารงานและบริหารคน

การพัฒนาทักษะที่จำเป็นสำหรับหัวหน้างานระดับสูง
พนักงานในกลุ่มนี้มีช่วงอายุประมาณ 55 ปีขึ้นไป เป็นช่วงขาลงจากเวที แต่ไม่ได้หมายความว่าบุคคลกลุ่มนี้จะด้อยประสิทธิภาพในการทำงาน เพราะบุคคลเหล่านี้เป็นผู้เพียบพร้อมไปด้วยประสบการณ์และความรู้ที่เกี่ยวข้องในสายอาชีพเป็นอย่างมาก แต่เป็นช่วงเวลาที่พวกเขาต้องผลักดันให้พนักงานรุ่นถัดไปได้แสดงศักยภาพในการทำงาน หรือเป็นการปั้นตัวแทนเพื่อให้คนรุ่นใหม่นำพาองค์กรให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน ซึ่งคนกลุ่มนี้จะมีหน้าที่กำหนดกลยุทธ์และทิศทางการดำเนินการของธุรกิจ ซึ่งทักษะที่ต้องเพิ่มเติม คือ การวิเคราะห์ธุรกิจ, การวิเคราะห์ต้นทุนกำไร, การวางแผนการตลาด, การวางแผนเชิงกลยุทธ์ หรือการปรับตัวของธุรกิจในยุคเทคโนโลยี เป็นต้น
จากเส้นกราฟรูประฆังคว่ำของเส้นทางความก้าวหน้าในสายอาชีพ (Normal Curve of Career Path) สามารถวิเคราะห์ทักษะที่จำเป็นของหัวหน้างานระดับต้นและระดับกลางได้ 3 ด้าน ได้แก่ ทักษะด้านสัมพันธภาพ ทักษะด้านเทคนิคการทำงาน และทักษะด้านการบริหารงาน