วันพุธที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

สาเหตุแห่งความเครียด ตามแนวคิดทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Sigmund Freud) ตอนที่ 4

บทความโดย โกสินธุ์ อัคครุ่งเรือง
นักจิตวิทยาให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์



การสนองตอบต่อความเครียดด้านจิตใจ

เมื่อเกิดความเครียด จิตใจของเรามักจะมีการกระทำที่เป็นการปกป้องตัวเองให้พ้นภาวะความไม่สุขสบายอันเนื่องมาจากความเครียด และจะหาวิธีในการลดและขจัดภาวการณ์ที่ก่อนให้เกิดความเครียดนั้น กลำหการทำงานของจิตใจในการปกป้องตนเอง (defense mechanism) หรือ Coping พฤติกรรมของจิตใจในกระบวนการปรับสมดุลทางอารมณ์ หรือกลวิธีทางด้านจิตใจที่บุคคลใช้เพื่อแก้ไขสภาวะที่ถูกคุกคามต่อเสถียรภาพทางด้านจิตใจ เพื่อลดความกดดันทางจิตใจ อารมณ์ โดยทั่วไปการสนองตอบทางด้านจิตใจอาจแยกเป็น 3 ประเภทคือ

1. การหนีและเลี่ยง (Flight) คนส่วนใหญ่บางคนหนีและเลี่ยงภาวะความเครียดโดยการปฏิเสธ (Denial) ปฏิเสธว่าตัวเองเครียด ตัวเองกำลังมีปัญหาที่แก้ไม่ตก บางคนหนีและเลี่ยงด้วยการใช้สุรา บางคนใช้ยาหรือสารเสพติดเพื่อประคับประคองจิตใจ บางคนเลี่ยงด้วยการย้ายที่อยู่ใหม่ นอนหลับ หรือสร้างวิมานในอากาศ
2. การยอมรับพร้อมทั้งเผชิญกับภาวะความเครียด (Flight) มีอยู่ได้ 2 ลักษณะคือ การต่อสู้เพื่อหาหนทางแก้ไขภาวะที่ก่อให้เกิดความเครียด หรือแก้ไขตัวเองเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อลดความเครียดนั้น
3. เรียนรู้ที่จะอยู่กับภาวะเครียด (Coexistence) ในยามที่เราไม่สามารถจะหนีจากภาวะความเครียดหรือไม่สามารถแก้ไขภาวะความเครียด เราต้องใช้วิธีการใหม่ คือการเรียนรู้ที่จะอยู่กับความเครียด การปรับเปลี่ยนตนเองโดยใช้กลำกทางจิตต่างๆ  หรือใช้กลวิธีอื่น ๆ เช่น การทำสมาธิ การวิปัสนา การแสวงหาคนช่วยเหลือเพื่อประคับประคองจิตใจอารมณ์ เป็นต้น (สุวนีย์ กิ่งแก้ว . 2554 : 89-91)

ฟรอยด์อธิบายว่า มนุษย์ไม่สามารถหลบหลีกความกังวลและความเครียดที่เกิดจาก
- กระบวนการเป็นไปทางกาย
- ความคับข้องใจ  (Frustrations) 
- ความยัดแย้ง  (Conflicts) 
- ความกระทบกระเทือนขวัญ  (Threats)
ภาวะเหล่านี้บีบคั้นจิตใจ มนุษย์ไม่พึงปรารถนาจึงพยายามหาทางผ่อนคลาย ดังนั้น Ego จึงแสวงหาวิธีลดภาวะไม่พึงปรารถนาเหล่านี้โดยวิธีการที่เรียกว่า “กลวิธานป้องกันตัว”  Anna Freud จึงใช้แนวคิดทฤษฎีจิตวิเคราะห์พัฒนาแนวคิดเรื่องกลไกทางจิตใจ (Mechanism of defense) ซึ่งเป็นกระบวนการปกป้อง Ego ให้พ้นภาวะความหวาดกังวล (Anxiety)

ฟรอยด์เชื่อว่าผู้ป่วยทุกคนไม่ว่าจะตื่นตัวหรือเต็มใจที่จะรับการรักษามากน้อยเพียงใดก็ตาม จะมีการต่อต้านการถูกวิเคราะห์ ทั้งนี้เพราะความกลัวที่ซ่อนเร้นอยู่ในจิตใต้สำนึก การต่อต้านนี้จะมีการแสดงออกหลายรูปแบบ เป็นต้นว่าอาจจะอยู่ในรูปแบบของการพูดตลก ปกปิดเรื่องราว ปฏิเสธไม่ยอมพูด ไม่ยอมรับรู้เรื่องราว ไม่มาตามนัด หยุดพูดอย่างฉับพลัน การต่อต้านเกิดขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงและเพื่อปกป้องตนเองให้พ้นภาวะวิตกกังวล หรือเพื่อประโยชน์บางประการ

กลไกการปกป้องตนเอง (Defence Machanism) กลไกทางจิตซึ่งช่วยปกป้องจิตใจให้พ้นจากความคิด ความรู้สึกและการกระทำที่ตนเองยอมรับไม่ได้ เป็นกลวิธีในการที่คนเราจะปรับต้วอยู่กับภาวะความคับข้องใจ ภาวะไม่สมหวัง และภาวการณ์ที่ก่อให้เกิดความวิตกกังวลที่มีอยู่ในชีวิตประจำวัน ฟรอยด์กล่าวว่า กลไกการปกป้องตนเองนี้สามารถทำให้ผู้รักษาสามารถวิเคราะห์และทำความเข้าใจจิตใจส่วนไร้สำนึกและภาวการณ์ต่างๆ ที่รบกวนสมดุลทางด้านจิตใจของผู้ป่วย และสุดท้ายกลไกการปกป้องตนเองเป็นสิ่งบ่งบอกภาวะการต่อต้านของผู้ป่วยได้ การทำความเข้าใจกลไกของการปกป้องตนเองจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้รักษาโดยหระบวนการการทำจิตวิเคราะห์ เพราะการเจาะวิเคราะห์ ความคิด ความรู้สึก และพฤติกรรมของผู้ป่วย ส่วนหนึ่งต้องอาศัยการวิเคราะห์กลไกการปกป้องตนเอง
(สุวนีย์ กิ่งแก้ว . 2554 : 294-295) (Elton B.McNeil , Zick Rubin..  1981: 300-302)


สรุปได้ว่า

     การอธิบายพฤติกรรมของมนุษย์ตามหลักวิชาจิตวิทยานั้น   จึงมีความเป็นทั้งศิลป์และศาสตร์ เพราะนักจิตวิทยาถือว่า   "พฤติกรรมหรือการกระทำทุกอย่างจะต้องมีสาเหตุ และทุกพฤติกรรมที่เกิดขึ้นล้วมีความหมายไม่ได้เกิดขึ้นมาโดยบังเอิญ แต่จะมีจิตใจส่วนหนึ่งดำเนินการและสั่งการ" เราจึงต้องมาค้นหาดูว่าอะไรเป็นสาเหตุ และทำไมจึงเกิดเหตุการณ์เช่นนั้น บางครั้งความหมายที่แฝงอยู่เบื้องหลังพฤติกรรมบางพฤติกรรมอาจมีสาเหตุมาจากประสบกการณ์ชีวิตในวัยต้น ดังนั้นผู้ที่ยึดแนวความคิดทฤษฎีจิตวิเคราะห์ในการรักษาผู้มีพฤติกรรมแปรปรวนจะไม่ปล่อยให้ปรากฎการณ์ทางจิตใจที่เรียกว่า Mental phenomena ให้ผ่านไปโดยไร้ความหมาย และจะคิดว่าเป็นเพียงเหตุบังเอิญไม่ได้ แต่จะต้องค้นหาดูว่าอะไรเป็นสาเหตุและทำไมจึงเกิดเหตุการณ์เช่นนั้น
     การศึกษาพฤติกรรมของมนุษย์  จึงประกอบด้วยกระบวนการ ขั้นตอนทางวิทยาศาสตร์ กล่าวคือ มีการตั้งปัญหาที่จะศึกษาสาเหตุนั้นขึ้น  มีข้อสมมติฐานคาดคะเนถึงคำตอบของปัญหา   รวบรวมข้อมูลเพื่อสนับสนุนข้อสมมติฐาน นำข้อมูลที่หามาได้มาทำการทดลองและวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อจะนาไปสู่การประเมินและสรุปผลที่ได้จากการศึกษานั้น   และขั้นตอนสุดท้ายคือนำผลที่ได้จากการศึกษานั้นมาอธิบายพฤติกรรมว่าเกิดจากสาเหตุใด  แล้วนำผลนั้นไปประยุกต์ใช้เพื่อจะแก้ปัญหาต่อไป อันเป็นจุดมุ่งหมายของจิตวทยาคือเพื่อความเข้าใจ(Understanding)   การทำนาย (Predivtion)  และการควบคุม (Control)  พฤติกรรมมนุษย์ในสถานการณ์ต่าง ๆ

เอกสารอ้างอิง
Elton B.McNeil  , Zick Rubin.  1981 .The psychology of being human , Third edition . Harper & Row , Publishers,  New York
กิติกร มีทรัพย์.  (2554) . พื้นฐานทฤษฎีจิตวิเคราะห์.  พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์สมิตร
สุวนีย์ เกี่ยวกิ่งแก้ว .  (2554) .  การพยาบาลจิตเวช. พิมพ์ครั้งที่ 2 .กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
พระมหาศุภวัฒน์ ชุติมฺนโต (สุขดำ). (2548).  การศึกษาเปรียบเทียบแนวความคิดเรื่อง พฤติกรรมของมนุษย์ในทรรศนะของพุทธปรัชญาเถรวาทกับ ซิกมันด์ ฟรอยด์.  ปรัญญาพุทธศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาปรัชญา บัณฑิตวิทยาลัย. กรุงเทพฯ.  มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย