นักจิตวิทยาให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์
ความวิตกกังกล (Anxiety)
ฟรอยด์
เชื่อว่า (อ้างใน กิติกร มีทรัพย์. 2554) ความหวาดกังวลเป็นเรื่องที่มนุษย์หลีกเลี่ยงไม่พ้น
เพราะความปรารถนาของมนุษย์ไม่ได้รับการสนองสมใจเสมอไป หรือ Ego ไม่สามารถควบคุม Id และ Super ego ได้อย่างสมดุลเหมาะเจาะตลอดมา
ฟรอยด์แบ่งความหวาดกังวลออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
(1) ความวิตกกังวลต่อสิ่งที่เป็นจริง
(Reality Anxiety) ได้แก่
ความหวาดกลัวอันตรายจากสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่อยู่รอบตัวเรา เป็นต้นกำเนิดของ Neurotic Anxiety และ Moral
Anxiety เป็นความกังวลที่เกิดข้ึนกับมนุษย์เราเป็นส่วนใหญ่ เช่น
กลัวงูมีพิษ คนถือปืน เป็นต้น
(2) ความวิตกกังวลแบบโรคประสาท (Neurotic
Anxiety) ความวิตกกังวลประเภทนี้ถูกกระตุ้นโดยภาพของความตื่นกลัวจากสัญชาตญาณ
(Id) ได้แก่
ความหวาดกลัวตัวเองว่า ตนจะไม่สามารถคุมสัญชาตญาณได้ จะทำสิ่งที่น่าอับอายขายหน้า
จะถูกประจาน ประณาม และถูกลงโทษ
(3) ความวิตกกังวลเชิงศีสธรรม (Moral
Anxiety) เนื่องมาจากคุณธรรมที่มาจากภายใน
(Super Ego) ได้แก่
ความหวาดกลัวที่เกิดจากความสำนึกผิดชอบชั่วดี
ความเครียด (Stress)
ความเครียดเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตที่ทุกคนไม่อาจหลีกเลี่ยงได้
ตลอดชีวิตของเรานั้นจะต้องประสบกับการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอกร่างกายตลอดเวลา
การเปลี่ยนแปลงทำให้เราต้องมีการปรับตัว การปรับตัวทำให้เราเกิดความเครียดขึ้น
และถ้าเราปรับตัวล้มเหลวก็จะทำให้เกิดภาวะอารมณ์วิกฤตขึ้นได้
ซึ่งความเครียดเพียงเล็กน้อยเป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตประจำวัน เพราะมีส่วนช่วยกระตุ้นร่างกายและจิตใจให้มีปฏิกิริยาสนองตอบ
และผลของการกระตุ้นนี้เองทำให้มนุษย์มีการปรับตัวทั้งด้านร่างกายและจิตใจ
การปรับตัวทางด้านร่างกายทำให้มีแรงต้านทานโรค
ส่วนทางจิตใจทำให้มีการพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น
มีความสามารถและทักษะการแก้ปัญหาชีวิตได้ดีขึ้น
ความเครียดที่มีอยู่อย่างต่อเนื่องและมีอยู่ในระยะเวลานานๆ
เท่านั้นที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคทางร่างกายและทางจิต
ความเครียด
คือ
การตอบสนองของบุคคลที่ระบุอย่างชัดแจ้งไม่ได้ต่อสภาวการณ์บางอย่างที่คุกคามต่อความมั่นคงปลอดภัยของชีวิต
ซึ่งการสนองตอบนี้มีลักษณะเฉพาะในแต่ละคนไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน
จะปรากฎให้เห็นในรูปอาการแสดงออกบางอย่าง และเป็นต้นเหตุให้มีการเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ
อย่างภายในร่างกายของบุคคล ทำให้บุคคลต้องมีการปรับตัวทั้งด้านร่างกายและจิตใจ
สภาวการณ์ที่ก่อให้เกิดความเครียดในคนหนึ่งไม่จำเป็นจะต้องเหมือนกับอีกคนหนึ่ง
สภาวการณ์อย่างเดียวกันอาจทำให้คนหนึ่งเครียด แต่อีกคนหนึ่งไม่เครียด
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และการรับรู้ของบุคคล และขึ้นอยู่กับปัจจัยอีกหลายๆ
อย่าง เป็นต้นว่า วันเวลา การรับรู้ ความเข้มแข็งของบุคคล
ระบบประคับประคองภายในบุคคล และที่ได้รับจากบุคคลภายนอก สมาชิกในครอบครัว เพื่อน
องค์กรต่างๆ ในชุมชน เป็นต้น (สุวนีย์ กิ่งแก้ว . 2554 : 84)
สาเหตุของความเครียด
ความเครียดเกิดขึ้นได้จากหลายๆ
สาเหตุ จำแนกได้เป็นสองสาเหตุคือ
1. สาเหตุจากภายนอกตัวบุคคล
มีหลายสาเหตุที่เกิดขึ้นในกระบวนการดำเนินชีวิต
1.1 สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ
ได้แก่สิ่งของรอบตัวเราที่สัมผัสได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้าอยู่เป็นประจำ เช่น
อากาศร้อนไป หนาวไป ทำให้ร่างกายไม่สุขสบาย หากต้องอยู่ในภาวะเหล่านี้
เราจะรู้สึกไม่สบาย ปวดศรีษะ และอารมณ์เสียได้ง่าย
นั่นเป็นเพราะว่าเรากำลังอยู่ในอารมณ์เครียด
หรือการขาดแคลนปัจจัยสำหรับการดำรงชีวิต เช่นอาหาร น้ำ เครื่องนุ่งห่ม
ที่อยู่อาศัย และยารักษาโรค
ก็เป็นสาเหตุของความเครียดได้
1.2 สังคมและสัมพันธภาพกับคนอื่น
การมีความสัมพันธ์กับคนในสังคมอาจทำให้เกิดความเครียดได้
เช่นการไม่ปรองดองกันของบุคคลในครอบครัว ทำให้เกิดความเครียดทางใจ
สภาพความเป็นอยู่ที่แอดอัดทำให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา เช่นการเสียดสี แก่งแย่ง
ทะเลาะวิวาท หรือแม้กระทั่งการขาดเพื่อน
ต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวก็ทำให้เกิดความเครียซึ่งถือว่ามีสาเหตุจากสังคมได้เช่นกัน
1.3 สภาวการณ์และเหตุการณ์อื่น ซึ่งเหตุการณ์ต่างๆ
เหล่านี้ทำให้บุคคลต้องมีการปรับตัว สามารถแบ่งได้ 2
ประเภทดังนี้
1.3.1
สภาวการณ์ที่ก่อให้เกิดความชื่นชมยินดี เช่น การแต่งงาน
การตั้งครรภ์และการคลอดบุตร เป็นต้น
1.3.2 สภาวการณ์ที่ก่อให้เกิดควารันทดใจ
เช่น การหย่าร้างของคู่สมรส สมาชิกในครอบครัวเจ็บป่วย เป็นต้น
2. สาเหตุจากภายในตัวบุคคล
ซึ่งปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเครียดแบ่งได้ 3 ประเภทได้แก่
2.1
โครงสร้างของร่างกายและสภาวะทางสรีรวิทยา เป็นส่วนที่ได้การถ่ายทอดจากบรรพบุรษ
บางคนมีโครงสร้างร่างกายที่ไม่สมบูรณ์ทำให้ร่างกายเติบโตได้ไม่เต็มที่
ทำให้เกิดโรคต่างๆ ได้ง่าย
2.2 ระดับพัฒนาการ
ร่างกายที่มีพัฒนาการไม่ปกติ เนื่องจากได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ
จึงทำให้เติบโตช้ากว่าปกติ
2.3 การรับรู้และการแปลเหตุการณ์
เหตุการณ์ที่ก่อให้เกิดอารมณ์ กลัว โกรธ กังวัล หรือตื่นเต้น
จะทำให้ร่างกายถูกกระตุ้นและมีการตอบสนองทางด้านสรีรวิทยา
การรับรู้จึงเป็นตัวสำคัญในการที่จะทำให้บุคคลสนองต่อเหตุกาณณ์ไปในทางที่ดีหรือในทางที่เลวร้ายได้
เหตุการณ์อย่างหนึ่งทำให้คนสองคนรับรู้ได้ไม่เหมือนกัน
และมีการสนองตอบต่อเหตุการณ์ที่แตกต่างกัน
การรับรู้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ชีวิตเดิม
เหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้นและท้าทายสำหรับคนหนึ่ง อาจจะทำให้อีกคนรู้สึก กลัว กังวล
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับประสบการณ์และโครงสร้างบุคคลิกภาพที่มีอิทธิพลต่อการรับรู้ของบุคคลนั้น
ๆ (สุวนีย์ กิ่งแก้ว . 2554 : 85-87)
ปัจจัยอื่นที่เป็นสาเหตุแห่งความเครียด
(Pasquali,
1988 อ้างใน สุวนีย์ กิ่งแก้ว . 2554 : 87)
1. สิ่งที่คุกคามต่อภาพพจน์ของบุคคล
เช่นการผ่าตัดที่ทำให้บุคคลต้องสูญเสียอวัยวะสำคัญ หรือให้สูญเสียเอกลักษณ์ทางเพศ
ความเจ็บป่วยที่ทำให้ร่างกายมีความพิการหลงเหลืออยู่เป็นต้น
2. ความเจ็บปวด
เป็นประสบการส่วนบุคคลที่คนอื่นไม่อาจจะบอกได้ว่าปวดเจ็บมากน้อยแค่ไหน
เป็นความเจ็บปวดที่ทำให้เราไม่สุขสบาย
3. การเคลื่อนไหวไม่ได้
อันเนื่องมาจากการถูกจำกัดการเคลื่อนไหว เนื่องจากโรคที่เป็นอยู่
4. การสูญเสียและการเปลี่ยนแปลง
การสูญเสียบุคคลที่รัก ญาติสนิท
หรือการเปลี่ยนแปลงของสถานภาพทางสังคมเช่นกลายเป็นบุคคลล้มละลาย เป็นต้น
เอกสารอ้างอิง
Elton B.McNeil , Zick Rubin.
1981 .The psychology of being human , Third edition . Harper & Row ,
Publishers, New York
กิติกร
มีทรัพย์. (2554) . พื้นฐานทฤษฎีจิตวิเคราะห์.
พิมพ์ครั้งที่ 5. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์สมิตร
สุวนีย์
เกี่ยวกิ่งแก้ว . (2554) . การพยาบาลจิตเวช. พิมพ์ครั้งที่ 2
.กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
พระมหาศุภวัฒน์
ชุติมฺนโต (สุขดำ). (2548). การศึกษาเปรียบเทียบแนวความคิดเรื่อง
พฤติกรรมของมนุษย์ในทรรศนะของพุทธปรัชญาเถรวาทกับ ซิกมันด์ ฟรอยด์. ปรัญญาพุทธศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาปรัชญา
บัณฑิตวิทยาลัย. กรุงเทพฯ. มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย