นักจิตวิทยาให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์
เมื่อมีการกล่าวถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
จำเป็นต้องมีกรอบแนวความคิดเพื่อกำหนดทิศทางของเรื่องที่กำลังจะกล่าวถึง
เป็นการป้องกันไม่ให้ออกนอกกรอบ หรือทิศทางที่ต้องการจนเกินไป กรอบแนวความคิดจึงเป็นความรู้ชุดหนึ่งที่ประกอบไปด้วยแนวคิดของนักวิชาการหลาย
ท่าน เป็นการรวบรวมหลักการทั่ว ๆ ไป (General principle) และเป็นหลักการที่สามารถนำมาใช้อ้างอิงหรืออธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้
(Explanatory principle) ซึ่งองค์ความรู้ที่รวบรวมมานั้นจะกรอบแนวความคิดพื้นฐานสำหรับผู้ให้คำปรึกษานำไปใช้ในการวิเคราะห์และอธิบายพฤติกรรมหรือแนวความคิดที่เกิดขึ้นของผู้รับคำปรึกษา
แนวคิดพื้นฐานที่สำคัญในการวิเคราะห์พฤติกรรม
จิตสำนึกและจิตใต้สำนึกมีส่วนเกี่ยวข้องกับบุคลิกภาพและแสดงออกของมนุษย์ Freud เชื่อว่าพฤติกรรมทุกพฤติกรรมมีความหมาย
และไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่จะมีจิตใจส่วนหนึ่งดำเนินการและสั่งการ
ทำให้เกิดรูปแบบพฤติกรรมที่มีความหมายโดยเจ้าตัวไม่ตระหนัก
ความหมายที่ซ่อนแฝงอยู่เบื้องหลังพฤติกรรมบางพฤติกรรมมีสาเหตุมาจากประสบการณ์ชีวิตในวัยต้น เช่น การพูดอย่างระมัดระวัง
หรือการพลั้งเผลออย่างไม่รู้ตัว
ฟรอยด์
ได้อธิบายว่าจิตใจของคนแม้จะไม่มีตัวตนให้เห็นเด่นชัด
แต่ก็สามารถอธิบายและทำความเข้าใจได้ โดยกระบวนการการทำงานของจิตใจ
โดยเปรียบเทียบโครงสร้างทางจิตของมนุษย์ว่ามีสภาพคล้ายภูเขาน้ำแข็งที่ลอยอยู่ในมหาสมุทร
มีส่วนน้อยที่ลอยอยู่เหนือผิวน้ำเปรียบได้กับระดับจิตสำนึกควบคุม
และส่วนที่อยู่ใต้ผิวน้ำซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าเปรียบได้กับภาวะจิตใต้สำนึก
และจิตในระดับใต้สำนึกนั้นประกอบด้วยกลไกทางจิตหลายประเภทช่น แรงจูงใจ
อารมณ์ที่ถูกเก็บกด ความรู้สึกนึกคิด ความฝัน ความทรงจำ ฯลฯ
ทำให้คนมีพฤติกรรมที่แตกต่างกัน
โดยพฤติกรรมบางพฤติกรรมสามารที่จะอธิบายให้เข้าใจได้
แต่อีกหลายพฤติกรรมนั้นสร้างความสับสนที่ไม่สามารถจะเข้าใจได้
เพื่อทำความเข้าใจถึงสาเหตุพฤติกรรมมนุษย์
ฟรอยด์ได้อธิบายถึงโครงสร้างบุคลิกภาพสรุปได้ดังนี้
โครงสร้างบุคลิกภาพ
ตามแนวคิดของฟรอยด์
ประกอบด้วยพลัง 3 ประการ ได้แก่ Id Ego และ Super Ego พลังทั้ง 3 มีลักษณะเฉพาะตัว
แต่ก็มีอิทธิพลต่อกันและทำงานสัมพันธ์กันตลอดเวลา
บุคลิกภาพของผู้ใดมีลักษณะใดขึ้นอยู่กับพลัง Id Ego และ Super
Ego ทำงานร่วมกันในลักษณะอย่างไร
1. Id หรือสัญชาติญาณ
พลังงานที่ติดตัวมนุษย์มาตั้งแต่เกิด เป็นส่วนที่ยังไม่ได้รับการขัดเกลา
ดำเนินการโดยสัญชาตญาณธรรมชาติ โดยพื้นฐานบุคคลมีความปรารถนาให้ชีวิตมีความสุขสบาย
Id จึงเป็นพลังที่ผลักดันให้บุคคลแสวงหาความสุขความพอใจ โดยการตอบสนองความต้องการทางร่างกายอย่างปราศจากเหตุผลหรือความถูกต้องดีงาม
พลัง Id จึงมีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พลังแสวงหาความสุข (Pleasure
Seeking Principle)
2. Ego เป็นพลังแห่งการรู้และเข้าใจ
การรับรู้ข้อเท็จจริง การใช้เหตุผลกลั่นกรองก่อนที่จะดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมาย Ego
จึงทำหน้าที่คล้ายสะพานเชื่อมที่แสวงหาวิธีการตอบสนองความต้องการ (Id)
โดยไม่ขัดต่อสำนึกผิดชอบชั่วดี (Super Ego ) จนเกินไป เช่น เมื่อหิว พลัง Ego
ก็จะใช้เหตุผลตรึกตรองว่าจะบำบัดความหิวได้โดยวิธีใด
ตามสถานภาพแวดล้อม เช่น ไปสำรวจตู้เย็นก่อน ทำอาหารเอง ไปรับประทานอาหารนอกบ้าน
ฯลฯ จึงมีชื่อเรียกว่า Ego อีกอย่างว่าพลัง “รู้ความจริง” ( Resllity
Principle)
3. Super Ego เป็นส่วนของบุคลิกภาพที่ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของมาตรฐานหรือคุณค่าทางศีลธรรมจรรยา
คอยควบคุม Ego ให้หาวิธีที่เหมาะสมที่สุดในการสนองความต้องการ
Id โดยเหนี่ยวรั้งให้ทำอะไรอยู่ในกรอบประเพณี ถูกเหตุถูกผล
ให้คำนึงถึงความผิชอบชั่วดี มีคุณธรรม และสังคมเป็นใหญ่
โดยว่วนนี้จะควบคุมทั้งด้านความคิด ความรู้สึก และการกระทำ ประกอบด้วยระบบ 2 ระบบ
คือ
3.1 The ego ideal คือการลอกเลียนแบบบุคคลในอุดมคติ
เมื่อบุคคลมีความเชื่อว่าคนดีมีลักษณะอย่างไร
หากปฏิบัติตามความเชื่อนั้นได้บุคคลก็จะรู้สึกภูมิใจ
3.2 The conscience คือการควบคุมให้บุคคลปฏิบัติตนให้อยู่ในมาตรฐานความเป็นคนดีที่ตนกำหนดไว้
หากบุคคลละเมินมาตรฐานความเป็นคนดีของตนเอง ก็จะเกิดความรู้สึกผิดหรือละอาย
จากทฤษฎีดังกล่าวข้างต้นสามารถสรุปได้ว่า
บุคลิกภาพของแต่ละบุคคลมากจากความสัมพันธ์ระหว่าง Id
Ego และSuper
Ego โดย Id เปรียบเสมือนสัญชาติญาณหรือตัณหาที่แสวงหาแต่ความพึงพอใจเพื่อมาตอบสนองต่อความต้องการของตนเอง
ส่วน Super Ego เปรียบเสมือนมโนธรรมทำหน้าที่คอยเตือนหรือควบคุมไม่ให้
Ego แสดงอาการตามความเรียกร้องของสัญชาติญาณ
บุคคลจะมีการแสดงออกทางพฤติกรรมตอบสนองในลักษณะใดนั้นขึ้นอยู่กับว่าพลังใดระหว่าง Id หรือ Super Ego จะมีอำนาจต่อการตัดสินใจของ Ego มากกว่ากัน
จากการทำงานที่ขัดแย้งกันของพลังทั้งสามส่วน ทำให้มนุษย์จำเป็นต้องมีการปรับตัวตามสถานการณ์ที่เข้ามาอยู่ตลอดเวลา
เอกสารอ้างอิง
Elton B.McNeil , Zick Rubin.
1981 .The psychology of being human , Third edition
. Harper & Row , Publishers, New
York
กิติกร
มีทรัพย์. (2554) .
พื้นฐานทฤษฎีจิตวิเคราะห์. พิมพ์ครั้งที่
5. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์สมิตร
สุวนีย์
เกี่ยวกิ่งแก้ว . (2554) . การพยาบาลจิตเวช. พิมพ์ครั้งที่ 2
.กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.
พระมหาศุภวัฒน์
ชุติมฺนโต (สุขดำ). (2548).
การศึกษาเปรียบเทียบแนวความคิดเรื่อง พฤติกรรมของมนุษย์ในทรรศนะของพุทธปรัชญาเถรวาทกับ
ซิกมันด์ ฟรอยด์.
ปรัญญาพุทธศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาวิชาปรัชญา บัณฑิตวิทยาลัย. กรุงเทพฯ. มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย