วันพฤหัสบดีที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2556

อ่านพฤติกรรมมนุษย์ ตอน วลีเด็ด..ที่เด็ก ๆ หลายคนเคยเจอ

"อยากเรียนอะไรก็เรียน...จบแล้วก็มาช่วยงานที่บ้าน"
   บทความโดย โกสินธุ์ อัคครุ่งเรือง 
   นักจิตวิทยาให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์


โกสินธุ์ อัคครุ่งเรือง
นักจิตวิทยาให้คำปรึกษาและพัฒนาศักยภาพมนุษย์


     "อยากเรียนอะไรก็เรียน...จบแล้วก็มาช่วยงานที่บ้าน" ประโยคสั้น ๆ ของเตี่ยและแม่ที่บอกกับผมในช่วงวัยเด็ก ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่ผมจะจบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น แม้จะเป็นคำพูดที่เรียบง่าย แต่สะท้อนให้เห็นความหมายของคำว่า "ต้นทุนชีวิต" ได้เป็นอย่างดี แต่ก่อนที่จะเข้าสู่เนื้อหาต่อไป เรามาทำความรู้จักกับคำว่า ต้นทุนชีวิต กันก่อนว่าคืออะไร
     นพ.สุริยเดว ทรีปาตี (2553) ให้ความหมาย ต้นทุนชีวิต  (Development Assets) ไว้ว่า "เป็นต้นทุนขั้นพื้นฐานที่มีผลต่อการพัฒนาทางด้านจิตใจ สังคม สติปัญญาให้คนคนหนึ่งสามารถดำรงชีพอยู่ในสังคมได้อย่างเข้มแข็ง" ซึ่งต้นทุนชีวิตมีหลายรูปแบบ โดยผมจะยกกรณีศึกษาที่เรามักพบเจอกันอยู่ในชีวิตประจำวันของคนส่วนใหญ่ในประเทศไทย นั่นก็คือต้นทุนชีวิตที่มาจากพื้นฐานครอบครัว

1. ฐานะทางเศรษฐกิจ
     เป็นต้นทุนชีวิตขั้นพื้นฐานอย่างหนึ่งของพวกเรา หากครอบครัวใดมีฐานะทางเศรษฐกิจดี ก็จะมีหนทางการสร้างทางเดินอนาคตให้กับลูกหลานได้มากกว่าครอบครัวอื่น แล้วอะไรคือต้นทุนชีวิตทางเศรษฐกิจ ผมขอยกตัวอย่างจากครอบครัวของผม ดังนี้
     ผมเป็นลูกหลานชาวจีนที่เข้ามาตั้งรกรากในเมืองไทย ครั้งเหล่ากง เหล่าม่า หนีภัยสงครามและความอดยาก มีเพียงเสื่อผืนหมอนใบ ข้ามน้ำ ข้ามทะเล  แต่การเข้ามาเสี่ยงโชคในเมืองไทยสำหรับคนต่างคนแดนในยุคสมัยนั้นทำให้มีเส้นทางในสายอาชีพให้เลือกไม่มากนัก ตามคำพูดที่ว่า "ถ้าคนจีนไม่ค้าขายก็ต้องไปเป็นกุลีใช้แรงงาน" จากการมองการไกลของคนรุ่นบุกเบิกพับแนวคิดที่ไม่ต้องการเป็นลูกจ้างใคร เพราะการเป็นลูกจ้างในยุคสมัยนั้น คือ กุลี และการทำงานกว่าจะได้เงินแต่ละบาท แต่ละสลึงต้องใช้แรงกายเป็นอย่างมาก และอาชีพใช้แรงงานเป็นอาชีพที่ไม่มีความมั่นคง หากวันหนึ่งหมดเรี่ยวแรงแล้วจะหาเลี้ยงครอบครัวได้อย่างไร ลูกหลานจะอยู่อย่างไร ดังนั้น คนจีนส่วนใหญ่ที่เข้ามาตั้งรกรากในเมืองไทยจึงตัดสินใจเลือกประกอบอาชีพพาณิชย์ รวมถึงต้นตระกูลของผมด้วย 
     ในช่วงพ.ศ. 2489-2507 เป็นช่วงสิ้นสุดสงครามโลก  จึงเป็นยุคที่โลกให้ความสำคัญกับการเพิ่มจำนวนประชากร เพื่อนำมาใช้เป็นแรงงานในการพัฒนาประเทศ หรือที่เรารู้จักกันในยุค เบบี้ บูม (Baby Boomer) ด้วยเหตุผลนี้จึงทำให้ประเทศไทยซึ่งในขณะนั้นอยู่ในสมัยรัฐบาลยุคจอมพล ป. พิบูลสงคราม  จัดตั้งองค์กรระดับชาติขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ส่งเสริมประชาชนให้แต่งงานกันมากขึ้น โดยมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า “องค์การส่งเสริมการสมรส" และนโยบายส่งเสริมการมีบุตรมากมาย เช่น คู่สมรสใหม่ได้ดูหนังฟรี 30 วัน คนท้องขึ้นรถเมล์ฟรี ลูกคนแรกได้รับการศึกษาฟรี การห้ามคุมกำเนิด หรือแม้กระทั่งเก็บภาษีชายโสดเพิ่มขึ้น  มีการโฆษณาผ่านทางวิทยุ หนังสือพิมพ์ เพลง ละคร และโปสเตอร์ ประกอบกับความเชื่อของคนในยุคสมัยนั้น ที่มีแนวคิดที่ว่า การมีลูกมาก ก็จะยิ่งร่ำรวยมาก เพราะลูก ๆ จะช่วยกันทำมาหากิน ทำให้บางครอบครัวผลิตลูกกันจนตั้งเป็นทีมฟุตบอลได้หนึ่งทีม ซึ่งไม่เว้นแม้กระทั่งครอบครัวของพ่อและแม่ผม
     การเพิ่มจำนวนประชากรเพื่อพัฒนาประเทศเป็นสิ่งดี แต่ก็มีผลกระทบด้านคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานของเยาวชนตามมา เช่น ระบบการศึกษาที่ไม่เอื้ออำนวยให้กับครอบครัวที่มีฐานะยากจน ซึ่งสมัยก่อนการศึกษาภาคบังคับมีถึงประถมศึกษา 4 เป็นการศึกษาระดับประถมต้น ที่รัฐบังคับ เพื่อให้ทุกคนได้รับการศึกษา อย่างน้อยที่สุดก็พออ่านออก เขียนได้ บวกลบเลขเป็น จะได้ใช้ในชีวิตประจำวันได้ ถ้าครอบครัวไหนมีฐานะดี บุตรหลานก็จะเรียนต่อจนถึงระดับมัธยม หากครอบครัวใดทางบ้านฐานะไม่ดีก็มักจะหยุดเรียนกันแค่นั้น และการเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยนั้นสมัยก่อนถือเป็นเรื่องที่ค่อนข้างไกลตัวมาก     มีแค่คนที่ครอบครัวมีเงินพอจะส่งเสียให้เรียนได้จึงจะเรียนไหว จึงทำให้หลาย ๆ ครอบครัวที่มีลูกเยอะต้องตกลงกันภายในครอบครัวว่า ใครที่เหมาะสมที่จะได้เรียนต่อ
     ด้วยต้นทุนชีวิตด้านเศรษฐกิจครอบครัวของบุคคลรุ่นพ่อรุ่นแม่มีน้อย จึงเป็นแรงผลักดันให้พวกเขาพยายามส่งเสียให้ลูกของตนเองได้เรียนสูงสุด เท่าที่พวกเขาจะทำได้ แต่ประเด็นที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่ง คือ แล้วอะไรคือสิ่งที่ทำให้บุคคลรุ่นพ่อและแม่ของเราประสบความสำเร็จ มากกว่าผู้ที่เรียนจบสูง ๆ เช่น คุณเตียง จิราธิวัฒน์ (นี่เตียง แซ่เจ็ง), หรือคุณทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ จากชีวิตที่อยู่ในฐานะล่าง ๆ ในสังคม ปัจจุบันกลายเป็นมหาเศรษฐีอันดับต้น ๆ ของประเทศ (จากการจัดอันดับของ Forbes Thailand) ขอฝากประเด็นนี้ทิ้งท้ายในหัวข้อนี้เพื่อให้พวกเราได้กลับไปช่วยกันคิด และวิเคราะห์ต่อ

2.การเลี้ยงดูจากครอบครัว
     หากนำชีวิตตัวเองไปเปรียบเทียบกับบุคคลในตำนานระดับประเทศดูจะเป็นเรื่องยาก และมองไม่เห็นลู่ทางที่จะทำได้ในยุคสมัยนี้ เรากลับมาสู่เรื่องใกล้ตัวที่เราสามารถจับต้องได้นั่นก็คือการค้นหาความฝันของตัวเองให้เจอก่อน แล้วเริ่มลงมือทำ
     แต่กว่าที่บางคนจะหาความฝันของตัวเองเจอก็จวนเจียนที่จะเกษียณอายุราชการ แล้วทำไมจึงเป็นเช่นนั้น เรามาทำการวิเคราะห์กัน โดยผมจะยกตัวอย่างให้เห็นจากประสบการณ์ในชีวิตของผม เพื่อให้เข้าใจง่ายผมจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ดังนี้
     1) แนวคิดพื้นฐานของครอบครัว 
     ข้อนี้เป็นผลพวงที่มาจากต้นทุนชีวิตด้านเศรษฐกิจครอบครัว ยกตัวอย่างจากครอบครัวของผม ซึ่งเป็นครอบครัวพาณิชย์จึงมีแนวความคิดว่า ไม่มีอาชีพใดจะดีเท่าอาชีพ "ค้าขาย" จึงไม่แปลกที่จะเกิดวลีที่ว่า "อยากเรียนอะไรก็เรียน จบแล้วก็มาทำงานที่บ้าน" เพราะการยึดอาชีพค้าขาย เมื่อเราขายของได้ เราก็จะมีเงินซื้อข้าวกินทุกวัน นั่นเป็นเพราะคนรุ่นพ่อและรุ่นแม่ของผมเป็นบุคคลที่เคยพบกับยากความลำบาก อดมื้อกินมื้อมาก่อน สิ่งที่เขากลัวมากที่สุดคือ วันที่ลูก ๆ ไม่มีข้าวกิน ดังนั้น พวกเขาจึงอดทนทำงานทุกวันแบบไม่มีวันหยุด แต่สิ่งที่ตามมาก็ คือ พวกเขาไม่มีเวลาให้กับลูก ๆ อย่างเพียงพอ ด้วยเหตุนี้ จงลืมเรื่องการให้คำปรึกษาในการเรียนหรือการใช้ชีวิตไปได้เลย เพราะสิ่งที่พวกเขาทำให้กับผมก็คือ การหาเงินแล้วส่งให้ผมเรียน และให้ไปเรียนรู้การใช้ชีวิตจากสังคมในโรงเรียน ที่มีครูเป็นผู้สอน จึงไม่แปลกที่ในช่วงวัยรุ่นของเด็กหลาย ๆ คนที่ต้องการใครสักคนมาให้คำปรึกษา และคิดน้อยใจว่าพ่อกับแม่ไม่มีเวลาให้ 
     มาถึงตรงนี้ผมต้องการจะบอกกับคนที่เคยมีความคิดเช่นเดียวกับผม ที่ว่าพ่อกับแม่ไม่สนใจลูก และให้ความสำคัญกับการทำงานมากกว่า ผมไม่ได้ขอให้ปรับเปลี่ยนความคิด แต่ขอให้ลองมองดูอีกมุมหนึ่งของพ่อแม่ว่า เพราะอะไรเขาจึงต้องทำงานหนัก เมื่อก่อนผมไม่เคยเข้าใจ จนระทั่งวันหนึ่งได้ออกมาใช้ชีวิต และผจญโลกกว้างคนเดียว ทำงานหาเงินใช้เองยังลำบากเลย แล้วต้องทำงานหาเลี้ยงคนในครอบครัวตั้งหลายชีวิตจะลำบากขนาดไหน หากวันนั้นพวกเขาไม่ทำงานอย่างหนัก แล้วพวกเราจะมีลมหายใจได้ถึงทุกวันนี้หรือไม่ 
     จากที่เล่ามานั้นผมตั้งใจจะบอกว่าต้นทุนชีวิตด้านเศรษฐกิจแม้จะมีผลต่อความสำเร็จในชีวิต แต่ก็เพียงส่วนหนึ่งที่ยังไม่ใช่ต้นทุนที่ทำให้คนประสบความสำเร็จได้ทั้งหมด
     2)  ต้องการเลี้ยงดูเด็กแบบสมัยใหม่ แต่ยังขาดความเข้าใจ
     ต่อมาเรามาดูต้นทุนชีวิตอีกส่วนหนึ่ง นั่นก็คือ การเลี้ยงดูของครอบครัว ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวล้วนเชื่อมโยงกันหมด เช่น การเลี้ยงดูของครอบครัวส่วนหนึ่งมาจากพื้นฐานการศึกษาของผู้ปกครอง และความคาดหวังที่ต้องการเลี้ยงดูลูกแบบสมัยใหม่ ในแบบที่พวกเขาไม่เคยได้รับ เช่น หากพ่อกับแม่เราเรียนจบ ป.4 เขาจะให้แนวทางการศึกษา หรือให้อนาคตด้านการศึกษาเราได้อย่างไร สิ่งที่เขาทำได้คือ อยากเรียนอะไรเรียนเลย เรียนให้สูงที่สุดเท่าที่เขาจะส่งได้ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นการเปิดเสรีทางการศึกษาให้บุตรหลาน แต่ยังไม่สมบูรณ์ เพราะขาดการวางแนวทางในการดำเนินชีวิต
     ตามทฤษฎีพัฒนาการทางจิตสังคม 8 ขั้นของแอริคสัน (The Eight Stages of Psychosocial Development in Erikson) ที่ระบุว่า พัฒนาการในช่วงอายุ 13-20 ปี หรือขั้นที่ 5 ความเป็นอัตลักษณ์กับความสับสนในบทบาท (Identity vs Role Confusion) เด็กจะมีความสับสนในบทบาทของตนเอง โดยจะแสวงหาอัตลักษณ์ส่วนบุคคล  เช่น การคิดถามตนเองว่า “ฉันคือใคร” หรือ “ฉันจะทำอาชีพอะไรดี” เนื่องจากระยะนี้เด็กจะมีความรู้สึกสับสน ขาดความมั่นใจ ปัญหาทั่วไปที่จะพบในเด็กวัยนี้คือ ฉันไม่รู้ว่าฉันควรจะทำอะไร ฉันไม่รู้ว่าฉันจะดำเนินชีวิตไปในทิศทางใด อิทธิพลจากกลุ่มเพื่อนวัยเดียวกัน และต้นแบบจึงมีผลกับการดำเนินชีวิต
     ตัวอย่างจาก วันที่ผมต้องเลือกศึกษาต่อ เป็นช่วงเวลาก่อนที่ผมจะเรียนจบมัธยมศึกษาตอนต้น เมื่อคำตอบที่ผมได้รับจากครอบครัวคือ "เรียนอะไรก็ได้ อยากเรียนอะไรก็เรียน" ผมจึงมองหาความฝันของผมจากเพื่อนที่ผมสนิท แล้วผมก็ตัดสินใจเลือกที่จะเรียน ศิลปกรรม ซึ่งเป็นสายอาชีพ แต่คำตอบที่ได้รับ คือ อย่าเรียนเลย อันตราย วัยรุ่นที่เรียนสายนี้ทะเลาะวิวาทกันบ่อย เป็นคำตอบที่ออกมาจากความรักและความห่วงใยของผู้เป็นพ่อและแม่พ่อและแม่  สุดท้ายเรียนอะไรก็ได้ยกเว้น "สายอาชีพ" แต่ความข้องใจที่เกิดกับผมคือว่า "ไหนบอกว่าอยากเรียนอะไรก็เรียน"
      ซึ่งอธิบายตามแนวคิดของ แบนดูราได้ว่า การเรียนรู้ของคนส่วนใหญ่เกิดจากการเรียนรู้โดยการสังเกต (Observational) ตัวแบบ ซึ่งการเรียนรู้ผ่านตัวแบบนั้น อาจเป็นตัวแบบเพียงคนเดียวที่สามารถถ่ายทอดทั้งความคิดและการแสดงออกได้พร้อม ๆ กัน การเรียนรู้โดยการสังเกตจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุดหากพบตัวแบบที่เหมาะสม โดยตัวแบบนั้นแบ่งสามารถออกได้ 2 ประเภท คือ 1)ตัวแบบที่เป็นบุคคลจริง ๆ (Live Model) คือตัวแบบที่บุคคลได้มีโอกาสสังกตและปฏิสัมพันธ์ได้โดยตรง หรือตัวแบบควรจะเป็นผู้มีชื่อเสียงและเป็นที่เคารพในสายตาของผู้สังเกต  2)ตัวแบบที่เป็นสัญลักษณ์ (Symbolic Model) เป็นตัวแบบที่ผ่านสื่อต่าง ๆ เช่น วิทยุ โททัศน์ การ์ตูน หนังสือนวนิยาย เป็นต้น (สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต. 2556: 47-60. อ้างอิงจาก Bandura. 1978: 33, 344-358; 1989: 1-60)
      เนื่องจากเด็กวัยรุ่นยังไม่มีทักษะที่ดีในการแก้ปัญหา จึงมีพฤติกรรมการเลียนแบบบุคคล ดังนั้น สถาบันครอบครัวจึงมีส่วนสำคัญให้เด็กก้าวผ่านช่วงวัยที่แสนจะสับสนนี้ไปอย่างมั่นคง เช่น การช่วยตัดสินใจวางแผนเรื่องเกี่ยวกับอนาคต ทั้งเรื่องการเลือกอาชีพ การเลือกคู่ครอง เป็นต้น อย่างไรก็ตามวัยรุ่นแต่ละคนย่อมต้องการเวลาในการเรียนรู้ และปรับตัวเพื่อการพัฒนาไปสู่ความเป็นผู้ใหญ่และได้รับการยอมรับจากบุคคลรอบข้างในสังคม 

3. ตัวของเราเอง
     นอกจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่แล้ว สิ่งที่สำคัญที่สุดของต้นทุนชีวิตก็คือ ความคิดของเรานั่นเอง เรามีการแสวงหาความรู้ด้วยตัวเองมากแค่ไหน หรือวัน ๆ ทำตัวประหนึ่งลูกนก ที่รอคอยให้แม่นกป้อนอาหารเข้าปาก ผมขอยกตัวอย่างเรื่องราวการใช้ชีวิตวัยรุ่น ที่ไม่เคยสนใจอนาคต ไม่กล้าคิด ไม่กล้าตัดสินใจ ดังนี้
     หลังจากนั้นผมตัดสินใจเลือกเรียนสายสามัญ ในสายวิทย์-คณิต เหตุที่ผมเลือกเรียนสายนี้ และโรงเรียนนี้ เป็นเพราะ พี่สาวของผมเรียนที่โรงเรียนนี้ และสายนี้ แต่ผมก็ไม่รู้ว่าเมื่อเรียนจบแล้วจะต้องเรียนที่ไหนต่อ การใช้ชีวิตวัยรุ่นช่วงนี้หมดไปกับการเล่นกีฬา และเกม เมื่อมีคนถามถึงเป้าหมายของการเรียนมหาวิทยาลัยของผม ผมสามารถยืดยกตอบได้ทันที คือ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ด้วยเหตุผลง่าย ๆ ก็เพราะพี่สาวของผมเรียนต่อที่นั่นอีกเช่นกัน แต่เหตุผลการเลือกเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ของผมนั้นมีอีก เนื่องจากผมคิดว่าผมโตแล้ว และผมไม่ต้องการขอเงินที่บ้านใช้ ผมจึงเลือกสถาบันที่เรียนไปด้วยและทำงานไปด้วยได้ และรัฐศาสตร์ เป็นสาขาที่ผมเลือกเรียน ซึ่งเป็นสาขายอดฮิตที่หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่ต้องเข้าเรียน แค่ตั้งใจอ่านหนังสืออย่างไรก็จบ สรุปก็คือ "เรียนอะไรก็ได้ที่จบไว ๆ นั่นเอง" เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ผมตัดสินใจเลือกเรียนสาขานี้ และตอนนั้นผมก็ไม่รู้ว่าเรียนรัฐศาสตร์จบไปแล้วจะทำงานอะไร นั่นเป็นเพราะผมถูกปลูกฝังมาตลอดว่า "รีบเรียนให้จบ แล้วกลับไปช่วยงานที่บ้าน" ใบปริญญาตอนนั้นมันไม่สำคัญเท่ากับการได้ถ่ายรูปรับปริญญากับครอบครัว ตอนนั้นผมคิดได้แค่นั้นจริง ๆ สุดท้ายเด็กคนหนึ่งก็เข้าสู่ตลาดแรงงานโดยที่ไม่รู้ว่าตัวเองชอบ หรือถนัดอาชีพอะไร
      
   สรุปสั้น ๆ จากเรื่องเล่าข้างต้น
   1. ต้นทุนชีวิตที่เกิดจากตัวเราเองมีส่วนทำให้เราประสบความสำเร็จในชีวิตมากที่สุด
   2. ในช่วงอายุ 13-20 ปี เป็นช่วงวัยที่ต้องการต้นแบบชีวิต หากได้พบต้นแบบชีวิตที่ดี ชีวิตก็จะดี
   3. ทัศนคติที่ดี และการมองชีวิตหลาย ๆ มุม มีส่วนทำให้ชีวิตประสบความสำเร็จ
   4. ทุกคนต้องมีเป้าหมายในชีวิต เป้าหมายชัดเจน เส้นทางชีวิตก็จะชัดเจนไปด้วย อย่าไปโทษฟ้า หรือชะตาชีวิต เพราะหลายคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิต หลายคนมีต้นทุนชีวิตน้อยกว่าเรา